posttoday

หนี้นอกระบบ ลดลงในรอบ10ปี

13 ตุลาคม 2560

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผย

โดย ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2560 พบ 91.1% มีหนี้สูงสุดรอบ 10 ปี มีหนี้เฉียด 3 แสนบาท/ครัวเรือน สวนทางสัดส่วนการเป็นหนี้นอกระบบลดต่ำสุดรอบ 10 ปี ส่งสัญญาณว่าโครงสร้างหนี้ครัวเรือนไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น คาดทำให้ปี  2562 เป็นปีที่คนไทยพร้อมบริโภคเต็มที่

เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2560 จาก 1,191 ตัวอย่าง พบว่าปัจจุบันครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ 91.1% ยังคงมีหนี้สินอยู่ มีเพียง 8.9% เท่านั้นที่ไม่มีหนี้สิน โดยครัวเรือนที่ยังมีหนี้ส่วนใหญ่ 32.4% เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป รองลงมา 30.5% เป็นหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สิน เช่น รถยนต์และบ้าน 16.6% เป็นหนี้เพื่อชำระหนี้เก่า และ 3.8% เป็นหนี้บัตรเครดิต

 ทั้งนี้ แยกเป็นหนี้ในระบบ 42.4% หนี้นอกระบบ 1.2% และเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ 56.4% โดยหนี้สินต่อครัวเรือนรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 299,266 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.4% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยประชาชนที่มีหนี้จะมีการผ่อนชำระหนี้เดือนละ 15,438 บาท เพิ่มขึ้น 3.69% โดยเป็นการผ่อนชำระหนี้ในระบบ 79.3% หรือประมาณเดือนละ 14,032.32 บาท เพิ่มขึ้น 24.41% ขณะที่การผ่อนชำระหนี้นอกระบบอยู่ที่ 26.4% หรือเดือนละ 5,512.57 บาท ลดลง 46.33% ซึ่งเป็นการลดลงมากสุดในรอบ 10 ปี

นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ 79.3% เคยผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากสินค้ามีราคาแพง เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว สถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมีรายได้ลดลงขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ทั้งนี้คาดว่าในอีก 1 ปีข้างหน้าผู้เป็นหนี้นอกระบบจะลดลง

อย่างไรก็ดี มองว่ารัฐบาลควรเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของภาคประชาชน ด้วยการแก้ไขปัญหาในเรื่องของค่าครองชีพ ดูแลสวัสดิการให้กับประชาชน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชน จัดหาแหล่งเงินในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนมากขึ้น

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ตอนนี้คนยังจับจ่ายใช้สอยไม่สูงทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี ค่าครองชีพในปัจจุบันสูงกว่ารายได้ จึงต้องการประหยัด ซื้อเฉพาะของจำเป็น แต่ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นดูแล้วไม่น่ากลัวนัก เพราะเริ่มมีการปรับโครงสร้างไปสู่การเป็นหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สินทั้งบ้านและรถยนต์

“เป็นสัญญาณที่ดีที่ตัวเลขหนี้นอกระบบลดลงและภาระการก่อหนี้ของคนไทยในอีก 1 ปีข้างหน้าที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้ปี 2561 จะเกิดการปรับฐานของภาระหนี้ครัวเรือนไทย เกิดการรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น ทำให้มีภาระในการผ่อนชำระลดลง โครงสร้างหนี้ครัวเรือนจะปรับตัวดีขึ้น และส่งผลให้ในปี 2562 เป็นปีที่คนไทยพร้อมบริโภคเต็มที่” ธนวรรธน์ กล่าว

 ขณะที่ผลสำรวจทัศนะและพฤติกรรมการใช้จ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ผู้ที่ถือบัตรส่วนใหญ่เห็นว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจน เพิ่มสภาพคล่องในครอบครัว ทำให้เศรษฐกิจเกิดความคึกคัก และมีความพึงพอใจกับนโยบายดังกล่าว

 ด้านทริสเรทติ้งออกบทวิเคราะห์เศรษฐกิจ โดยคาดว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยจะปีนี้จะเติบโต 3.3-3.6% สูงกว่าปี 2559 ที่เติบโต 3.2% โดยเศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนด้วยการส่งออกที่ฟื้นตัว การท่องเที่ยวที่เติบโต และการใช้จ่ายภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงรวมถึงปัญหาน้ำท่วมในประเทศ

ด้านการใช้จ่ายของครัวเรือนในครึ่งปีหลังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากรายได้ภาคเกษตรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดีขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของการผลิตภาคเกษตร

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวจากการนำเข้าเครื่องจักร การก่อสร้าง และภาคการผลิตเพื่อส่งออกส่วนการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นที่จะส่งผลดีต่อผู้รับเหมาก่อสร้าง