posttoday

สวทช.เผย10เทคโนโลยีน่าลงทุนขยายโอกาสธุรกิจ

22 กันยายน 2560

สวทช.เผย 10 เทคโนโลยีน่าจับตามองแนะผู้ประกอบการไทยเร่งศึกษาหาโอกาสขยายลงทุนระยะยาว

สวทช.เผย 10 เทคโนโลยีน่าจับตามองแนะผู้ประกอบการไทยเร่งศึกษาหาโอกาสขยายลงทุนระยะยาว

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช.ได้จัดทำข้อมูล 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่และจะมีผลต่อภาคธุรกิจในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อมรับมือ หาโอกาสขยายลงทุน หรือขยายผลิตภัณฑ์ รวมถึงผู้ประกอบการสตาร์ทอัพจะขยายธุรกิจสู่กลุ่มดังกล่าวได้

สำหรับ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ประกอบด้วย

1.สารเสริมสุขภาพเนรมิตได้ (Phytonutrients) ที่สามารถนำพืชผัก ผลไม้ มาสกัดเอาสารสำคัญ ทำให้อยู่ในรูปลักษณะที่ชวนบริโภค ทั้งแคปซูล ผง แท่ง หรือละลายน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารมีประโยชน์จากพืชออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในแต่ละปี

2.เนื้อสัตว์ไม่ต้องฆ่า (Cellular Agriculture)  โดยในประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ทดลองนำเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อวัว ที่ได้จากการเลี้ยงในห้องปฏิบัติการมาทำเป็นแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งแนวคิดการผลิตเนื้อสัตว์จากเซลล์แบบนี้ มาจากความต้องการผลิตเนื้อสัตว์แบบยั่งยืนดีต่อโลก โดยใช้เทคโนโลยี Cell Culture เพิ่มจำนวนสเต็มเซลล์อย่างรวดเร็ว

3.จุลินทรีย์ผลิตสารมูลค่าสูงจากอากาศ (From-Air-To-Chemicals Bacteria) ซึ่งนักวิจัยจาก University of Minnesota ผลิตแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ ซินนีโคค็อกคัส (Synechococcus) ที่สังเคราะห์แสงโดยตรึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ แล้วเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาล ก่อนส่งต่อให้แบคทีเรีย ชีวาเนลลา (Shewanella) เปลี่ยนให้เป็นกรดไขมัน นำไปใช้ผลิต “คีโตน” ถือเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำคัญของสารประกอบอินทรีย์อื่นๆ และน้ำมันดีเซลได้

4.บรรจุภัณฑ์กินได้ (Edible Packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากผลผลิตทางการเกษตร เพื่อใช้ห่อหุ้มอาหารไม่ให้เกิดความเสียหาย  ยืดอายุ รักษาคุณภาพของอาหารให้เก็บไว้ได้นานขึ้น และสามารถรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ พร้อมกับส่วนที่ห่อหุ้มอยู่ได้เลย ปัจจุบันมีงานวิจัยและได้เริ่มทดลองใช้กันแล้วในหลายประเทศ

5.ถุงปลูกเพิ่มผลผลิต (Nonwovens for Agriculture)  หรือ ที่ทุกคนพูดถึง นอนวูฟเวนส์ (nonwovens) หรือ “ผ้าไม่ถักไม่ทอ” พบได้แพร่หลาย คือหน้ากากอนามัย โดย นักวิจัยจากศูนย์เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทำวิจัยถุงปลูกนอนวูฟเวน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลิตผลทางการเกษตรให้มากขึ้น

6.หุ่นยนต์หมอนาโน (Medical Nanorobot) ตัวยาที่ใช้รักษามะเร็งขาดความจำเพาะ จึงทำลายเซลล์มะเร็งเป้าหมายได้แค่ 1–2% ที่เหลือกลับทำลายเซลล์ดี ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา มีทีมวิจัยที่ศึกษานำ T Cell มาใช้เป็น Nanorobot นำส่งยาที่ใช้ฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะ

7.เข็มจิ๋วจิ้มไม่เจ็บ (Nano Needle) ที่มีการพัฒนาเข็มขนาดเล็กมาก เรียกว่า Micro/Nano Needles หรือ MNN มีเส้นผ่านศูนย์กลางระดับไมโครและนาโนเมตร คือราว 1 ในล้าน และ 1 ในพันล้านส่วนของเมตร ขณะนี้มีงานวิจัยเพื่อสร้างเข็มจิ๋วที่เหมาะกับการฉีดยาหรือวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการฉีดอินซูลินสำหรับการรักษาโรคเบาหวาน

8.บล็อกเชนเพื่อสุขภาพ (Blockchain for Health) คือ เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลธุรกรรม ทำให้เก็บข้อมูล และใช้การเข้ารหัส หรือ คริปโตกราฟี (cryptography) เพื่อป้องกันการแอบแก้ไขข้อมูล และกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูล ทำให้ระบบมีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้คนในการบริหารจัดการข้อมูล มีความปลอดภัยจากการแอบแก้ไขและแอบเข้าถึงข้อมูล

9.โรงยิมสมอง (Brain Gym) สมองเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนมาก ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นับแสนนับล้านเครื่อง เพื่อจำลองการทำงานของสมองเพียงเสี้ยววินาที แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (Sensor) ที่นำมาศึกษาสมองได้ดี เช่น มีเทคโนโลยีการสร้างภาพประสาท (Neuroimaging) และเทคนิคการวิเคราะห์ Big Data ทำให้อ่านข้อมูลสมองได้อย่างรวดเร็ว

10. พิมพ์ฟังก์ชัน 3 มิติ (Functional 3D Printing) โดยตลาดของวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติมีการเติบโตสูงมาก และในอนาคต วัสดุใหม่ๆ เช่น วัสดุคอมพอสิต จะช่วยให้สามารถพิมพ์วัสดุที่มีคุณสมบัติเฉพาะต่างๆ ได้หลากหลาย ทำให้สร้างอุปกรณ์ที่ทำงานได้เลยหลังพิมพ์เสร็จ