posttoday

"ไบโอเมตริก" ผงาด ครองตลาดสมาร์ทโฟน

21 กันยายน 2560

เมื่อมีการใช้ไบโอเมตริกมากขึ้น โดยเฉพาะการสแกนใบหน้าปลดล็อกอุปกรณ์ พฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนจึงใกล้จะเปลี่ยนไปสู่แบบ “แฮนด์ฟรี”

โดย...นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์ 

การใส่พาสเวิร์ดหรือวาดแพตเทิร์นปลดล็อกสมาร์ทโฟนอาจกลายเป็น “อดีต” เทคโนโลยีในอีกไม่ช้า หลังแอปเปิ้ลเปิดตัว ไอโฟนเท็น (iPhone X) ที่มาพร้อมเฟซไอดี (Face ID) หรือระบบการปลดล็อกสมาร์ทโฟนด้วยใบหน้า

แม้ไบโอเมตริกบนสมาร์ทโฟนไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยแอปเปิ้ลเริ่มใส่เทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาในอุปกรณ์นับตั้งแต่ปี 2013 เมื่อเปิดตัวไอโฟน 5เอส ที่มีระบบสแกนลายนิ้วมือเพื่อปลดล็อกโทรศัพท์หรือซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แต่เทคโนโลยีดังกล่าวกำลังมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเฟซไอดีของแอปเปิ้ลสามารถสแกนใบหน้าได้แบบ 3 มิติ ต่างจากไบโอเมตริกในสมาร์ทโฟนรุ่นก่อนๆ ที่เป็นเพียงการสแกนลายนิ้วมือ

แอปเปิ้ลไม่ใช่บริษัทเดียวที่เดินหน้าพัฒนาการใช้ไบโอเมตริกบนสมาร์ทโฟน โดยซัมซุง คู่แข่งจากแดนโสม เริ่มใส่ระบบการสแกนม่านตาเข้าไปสมาร์ทโฟนกาแล็คซี่ โน้ต 7 รวมถึงในรุ่นกาแล็คซี่ เอส8 และกาแล็คซี่ โน้ต 8 รุ่นล่าสุด ขณะที่บรรดาค่ายมือถือแดนมังกร อย่างวีโว่และเสี่ยวหมี่ เปิดเผยว่าสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของบริษัทจะมีระบบสแกนใบหน้าด้วยเช่นกัน

"ไบโอเมตริก" ผงาด ครองตลาดสมาร์ทโฟน

การที่ค่ายมือถือทั่วโลกต่างเพิ่มเทคโนโลยีไบโอเมตริกเข้าไปในสมาร์ทโฟน บ่งชี้ว่า การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะยิ่งเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดย อะควิตี้ มาร์เก็ต อินเทลลิเจนส์ เปิดเผยว่า ภายในปี 2019 สมาร์ทโฟนทั้งหมดทั่วโลกจะมีเทคโนโลยีไบโอเมตริกฝังอยู่ภายใน ขณะที่เทรนด์ฟอร์ซ บริษัทวิจัยตลาดจีน คาดการณ์ว่า ตลาดไบโอเมตริกจะขยายตัวจาก 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,798 ล้านบาท) ในปีนี้ ไปมีมูลค่า 827 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.7 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2025

เมื่อมีการใช้ไบโอเมตริกมากขึ้น โดยเฉพาะการสแกนใบหน้าปลดล็อกอุปกรณ์ พฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนจึงใกล้จะเปลี่ยนไปสู่แบบ “แฮนด์ฟรี” หรือการสั่งงานอุปกรณ์โดยไม่ต้องใช้มือสัมผัส ซึ่งไม่เพียงแต่จะเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอุปกรณ์ด้วยเช่นกัน โดยในกรณีของเฟซไอดีบนไอโฟนเท็นนั้น แอปเปิ้ลระบุว่า มีโอกาสเพียง 1 ในล้านที่บุคคลอื่นจะสามารถปลดล็อกสมาร์ทโฟนได้

นอกจากเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน ความก้าวหน้าของไบโอเมตริกยังเป็นส่วนเสริมการใช้งานเออาร์บนสมาร์ทโฟนด้วย โดยระบบการสแกนใบหน้าของไอโฟนเท็น ช่วยให้ผู้ใช้สามารถถ่าย “เออาร์ เซลฟี่” ได้ และอาจต่อยอดไปสู่การประยุกต์ใช้งานในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมแบบเสมือนจริง หรือการสร้างภาพและวิดีโอแบบเสมือนบนโลกจริง ซึ่งจะยิ่งทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะที่ใช้งานได้หลากหลายกว่าในปัจจุบัน