posttoday

กะเทาะมิติการตลาดดิจิทัล มัดใจผู้บริโภคหลากเจน

18 กันยายน 2560

เมื่อโลกเข้าสู่ดิจิทัล ช่องทางอี-คอมเมิร์ซกำลังจะมา และองค์กรหลายองค์กรเตรียมความพร้อมในการทรานส์ฟอร์ม แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีอีกหลายมิติที่ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทาย

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

หลายคนมักมองว่าเมื่อโลกเข้าสู่ดิจิทัล ช่องทางอี-คอมเมิร์ซกำลังจะมา และองค์กรหลายองค์กรเตรียมความพร้อมในการทรานส์ฟอร์ม แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีอีกหลายมิติที่ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทาย 

าณัติ จุลินทร ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายขาย บริษัท เนสท์เล่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำดื่มเนสท์เล่ เปิดเผยว่า การเข้าสู่ดิจิทัล และโลกของการค้าที่เรียกว่า อี-คอมเมิร์ซ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องจับตามองมีด้วยกัน 3 มิติ ประกอบด้วย 1.โครงสร้างประชากร กลุ่มเจเนอเรชั่น วายกับซี (Generation Y-Z) เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ทำให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็วจึงไม่เชื่อในพระเจ้า ไม่เชื่อในแบรนด์ แต่กลับเชื่อคอมเมนต์กูเกิล ดังนั้นการทำตลาดมีความยากและต้องปรับตัวมากขึ้น

ตามด้วยกลุ่มไฮเปอร์คอนเนก (Hiper Connect) หรือกลุ่มที่อยู่ในโลกของออนไลน์ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นกลุ่มผู้ซื้อสินค้าในช่องทางอี-คอมเมิร์ซเสมอไป เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการสัมผัสสินค้าในช่องทางออฟไลน์ก่อน ขณะที่ไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยปี 2559 ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะมีพฤติกรรมการติดไลน์ ส่วนใหญ่มีเวลาว่าง มองว่าเป็นโอกาสของช่องทางออฟไลน์

มิติที่ 2 การช็อปปิ้งในช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ระบบอัลกอริทึม (Algorithm) ช่วยจดจำเมื่อลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้ารายการอะไรบ้าง และคอยขึ้นเตือนเมื่อลูกค้าเข้ามา ทำให้การช็อปปิ้งมีความง่ายและสะดวกสบาย แต่ในไทยแม้ว่ามาร์เก็ตเพลสรายใหญ่อย่างลาซาด้ายังไม่มีระบบดังกล่าว เมื่อเทียบกับอังกฤษมีการนำระบบดังกล่าวมาใช้อย่างแพร่หลาย และมิติที่ 3 เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) แม้ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันให้คนไทยใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งพร้อมเพย์ ล่าสุดคิวอาร์โค้ด พฤติกรรมการใช้ยังไม่แพร่หลายเมื่อเทียบกับจีน

“จากประสบการณ์การดำเนินธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค เนสท์เล่มียอดขาย 3 ล้านล้านบาททั่วโลก มีแบรนด์มากกว่า 2,000 แบรนด์ ในไทยมีสินค้าด้วยกัน 12 แคธิกอรี่ อาทิ นมเด็ก กาแฟและน้ำดื่ม มุมมองต่อธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมาไว้อย่างที่คาดคิด โดยในตลาดโลกอยู่อันดับ 12 เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการขนส่งสินค้าซึ่งเป็นต้นทุน คาดการณ์ว่าอี-คอมเมิร์ซไทยมูลค่า 2.4 แสนล้านบาท เติบโต 16-20% อย่างต่อเนื่อง” อาณัติ กล่าว

ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค 4.0 มีด้วยกัน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. พฤติกรรมการซื้อสินค้าเสิร์ช ช็อปและแชร์ มีการคิดและไตร่ตรอง-ศึกษาข้อมูลในการซื้อสินค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขุดคุ้ย ข้อมูลรู้ลึก รู้จริง ตามด้วย พบว่า 50% ตัดสินใจซื้อจากการดูรีวิว

2.ช่องทางการซื้อสินค้า มีความสนใจหลากหลาย เน้นคุณภาพ โดย 80% ยินดีจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่ปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการเฉพาะบุคคล หรือได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง ขณะเดียวกันก็ต้องการเลือกซื้อสินค้าและช่องทางชำระเงินหลายแพลตฟอร์ม ทั้งอี-คอมเมิร์ซ และเอ็ม-คอมเมิร์ซ 3.ให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์แต่ต้องได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ (LIFESTYLE + Experiences)

สำหรับกลุ่มซีพีมองว่า ความท้าทายของผู้ประกอบการในยุคดิจิทัลมีด้วยกัน 4 มิติ ประกอบด้วย 1.การขยายตัวสังคมเมืองในปี 2559 จาก 31 ล้านคน หรือสัดส่วน 47% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มเป็น 34 ล้านคน หรือสัดส่วนเป็น 52% ส่วนขนาดของครอบครัวจะเริ่มขนาดเล็กลงจาก 3.2 คน/ครอบครัว เหลือเป็น 2.6 คน/ครอบครัว และกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่ม ราว 9 ล้านคน หรือ 13% ของประชากร และในปี 2563 จะมีประชากรเพิ่มเป็น 11.9 ล้านคน หรือ 15% ของประชากรทั้งหมด

ตามด้วยมิติที่ 2 การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การเกิดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก การสร้างเมืองนวัตกรรมใหม่ มีสนามบินอู่ตะเภา หรือกระทั่งการเกิดของมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี ด้านที่ 3 เศรษฐกิจดิจิทัล การเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้น และมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าขณะนี้การซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือและโซเชียลมีเดีย สัดส่วน 50%

ขณะที่มิติที่ 4 โลกแห่งการแข่งขันสูงขึ้น เกิดการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ เช่น SPAR กับ เนเธอร์แลนด์ร่วมกับบางจาก โลกของออฟไลน์ต้องแข่งขันกับออนไลน์ เช่น ลาซาด้า อีเลฟเว่นสตรีท เข้ามาทำตลาดในไทย และการแข่งขันของซัพพลายเออร์ที่ผันตัวไปสู่การขายตรงผ่านผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าผ่านมาร์เก็ตเพลส แบรนด์ดอทคอม เช่น กลุ่มสหพัฒน์ขณะนี้เริ่มปรับตัวแล้ว

ความเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งเป็นสิ่งสำคัญ แต่ละเจเนอเรชั่นมีความแตกต่างกัน เพราะนั่นหมายถึงว่าจับผู้บริโภคได้อยู่หมัด