posttoday

ทุนใหญ่เล็งซื้อทีวีดิจิทัล ขยับตามเจริญ-หมอเสริฐ

18 กันยายน 2560

หากดูเม็ดเงินที่ไหลเข้ายังมหาศาล จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำให้กลุ่มทุนใหญ่ถึงสนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจทีวีดิทัล

โดย...จะเรียม สำรวจ

สถานการณ์ของทีวีดิจิทัลในขณะนี้ ยังคงอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะช่องทีวีเรตติ้งต่ำกว่า 10 อันดับแรก เพราะเม็ดเงินโฆษณาที่ไหลเข้าสถานีถือว่าน้อยมาก เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณามีอยู่เท่าเดิม แต่ผู้ร่วมชิงเม็ดเงินมีเพิ่มมากขึ้น นอกจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะต้องแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาด้วยกันเองแล้ว ยังมีสื่อใหม่หรือนิวมีเดียอื่นๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์รูปแบบต่างๆ มาแย่งชิงเม็ดเงินอีก

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องประคองตัวเพื่อความอยู่รอด บางรายหันมาควบคุมต้นทุนภายในองค์กร ขณะที่บางรายก็หาผู้ร่วมทุนรายใหญ่เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ เพื่อความคล่องตัวในด้านของสถานะทางการเงินและความอยู่รอด

สถานการณ์ย่ำแย่ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ค่ายทีวีดิจิทัลมีทั้งขอยุติออกอากาศการทำธุรกิจ และมีที่เปิดให้กลุ่มทุนรายใหญ่เข้ามาซื้อกิจการทีวีดิจิทัล เห็นได้จากการที่ลูกเจ้าสัวตระกูลดัง อย่าง กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี คือ ฐาปน สิริวัฒนภักดี และปณต สิริวัฒนภักดี ออกมาควักกระเป๋า 850 ล้านบาท ลงทุนในกลุ่มอมรินทร์ ด้วยการเข้าถือหุ้นสัดส่วน 47% ซึ่งทรัพย์สินของกลุ่มอมรินทร์นอกจากจะมีทีวีดิจิทัลช่องอมรินทร์ทีวีแล้ว ยังมีธุรกิจโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ นิตยสาร อีเวนต์ และร้านหนังสือ 

หลังจากซื้อกิจการของช่องอมรินทร์ทีวีได้ไม่นาน ล่าสุดลูกเจ้าสัวตระกูลสิริวัฒนภักดี ก็ลุยธุรกิจสื่อต่อ ด้วยการเข้าถือหุ้นสัดส่วน 50% ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ซึ่งโครงสร้างภายในบริษัท ประกอบไปด้วย จีเอ็มเอ็ม แชนแนล (ช่องจีเอ็มเอ็ม 25) จีเอ็มเอ็ม มีเดีย (คลื่นวิทยุเอ-ไทม์ มีเดีย) จีเอ็มเอ็ม ทีวี และเอ-ไทม์ ทราเวลเลอร์

นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งถือเป็นบริษัทแม่ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ก็ขายหุ้นทีวีดิจิทัลในส่วนของช่องวันให้กับตระกูลปราสาททองโอสถ โดยบริษัท ประนันท์ภรณ์ ของ ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ลูกสาวของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เข้ามาถือหุ้นสัดส่วน 50% หรือมูลค่า 1,900 ล้านบาท ส่งผลให้เจ้าของรายเดิม คือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และถกลเกียรติ วีรวรรณ มีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือรายละ 25% เท่านั้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้หลายคนจับตามองว่าผู้ประกอบการรายต่อไปที่จะขายกิจการจะเป็นช่องไหน เนื่องจากสถานการณ์ของทีวีแต่ละช่องในขณะนี้ แต่ละรายยังคงอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ล่าสุดมีกระแสข่าวแว่วออกมาว่าในเร็วๆ นี้อาจจะมีการปิดดีลการซื้อกิจการทีวีดิจิทัลอย่างน้อยอีก 1 ช่อง หลังจากเจรจามาระยะหนึ่งแล้ว

ณรงค์ ตรีสุชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดนท์สุ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่กลุ่มทุนรายใหญ่สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัลตอนนี้ เพราะเป็นการลงทุนที่ถูก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าการเข้ามาลงทุนจะทำให้ทีวีดิจิทัลในช่องนั้นๆ มีกำไรดีขึ้น เนื่องจากขณะนี้ทีวีดิจิทัลอยู่ในช่วงขาลง เพราะเม็ดเงินโฆษณามีอยู่จำกัด แต่มีผู้ร่วมเข้ามาชิงเค้กเพิ่มขึ้น จากเดิมมีเพียงแค่ 3-4 ช่อง แต่ปัจจุบันมีมากถึง 22 ช่อง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าธุรกิจทีวีดิจิทัลจะอยู่ในช่วงขาลง แต่ในเร็วๆ นี้ก็จะมีการปิดดีลอีก 1 ราย ครั้งนี้เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดกลางที่สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัล

ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า หากให้มองภาพกันจริงๆ ทีวีดิจิทัลไม่ควรมีมากกว่า 20 ช่อง เพราะทำอย่างไรผู้บริโภคก็ดูไม่ถึง 20 ช่อง จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ถ้าอยู่ถึงได้ถึง 10 ช่อง ก็ถือว่าโอเคแล้ว เพราะหากให้มองภาพความเป็นจริงจะมีช่องทีวีอยู่ได้จริงเพียง 7-8 ช่องเท่านั้น เนื่องจากทีวีดิจิทัลเป็นธุรกิจที่ทำยาก ขนาดมืออาชีพยังทำไม่รอด

ด้าน ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ กล่าวว่า การเข้ามาเทกโอเวอร์ของกลุ่มทุนรายใหญ่ในทีวีดิจิทัลที่เกิดขึ้นตอนนี้สามารถมองได้ 2 รูปแบบ คือ 1.เป็นการลงทุนเพื่อหาผลกำไร และ 2.เป็นการลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นกับทีวีดิจิทัลตอนนี้ เชื่อว่าปี 2561 จะมีการซื้อขายกิจการกันอีกแน่นอน เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่ยังคงไหลเข้าสื่อทีวีปีละกว่า 5 หมื่นล้านบาท จากงบโฆษณาผ่านสื่อรวมปีนี้ 8.7 หมื่นล้านบาท

แม้ว่าสื่อทีวีจะอยู่ในช่วงภาวะขาลง แต่หากดูเม็ดเงินที่ไหลเข้ายังมหาศาล จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำให้กลุ่มทุนใหญ่ถึงสนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจทีวีดิทัล