posttoday

รื้อใบอนุญาต หั่นราคาถูกลง

07 กันยายน 2560

กสทช.ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ 50% เพิ่มการแข่งขันรายเล็ก ลุ้น สตง.ไฟเขียวโครงการเน็ตชายขอบ

กสทช.ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ 50% เพิ่มการแข่งขันรายเล็ก ลุ้น สตง.ไฟเขียวโครงการเน็ตชายขอบ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการทบทวนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นอัตราใหม่ที่มีการปรับลดจากอัตราเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการจัดเก็บตามอัตราขั้นบันไดของรายได้ ดังนี้ รายได้ 0-100 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม 0.125%  (จากเดิมเก็บ 0.25%) รายได้เกิน 100-500 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม  0.25% (จากเดิมเก็บ 0.5%) รายได้เกิน 500-1,000 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม 0.5% (จากเดิมเก็บ 1%) รายได้เกิน 1,000-5,000 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม 0.75% (จากเดิมรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1.5%) และรายได้เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1.5%

ทั้งนี้ กสทช.ต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายเล็ก ขณะเดียวกันจะพิจารณาทบทวนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย นอกเหนือจากนี้ยังมีมติเห็นชอบการลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของช่องสปริงนิวส์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ในอัตราลดหย่อน 15% ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่พึงชำระ เนื่องจากนำเสนอเนื้อหารายการในสัดส่วนที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตลอดทั้งปีจำนวน 61.87% ตรงตามระเบียบ กสทช.ว่าด้วยการลดหย่อน หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการฯ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่อโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน จำนวน 8 สัญญา ซึ่งได้ชี้แจงการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์  ราคาชนะการประมูลรวมทั้ง 8 สัญญา คือ 12,989.69 ล้านบาท จากราคากลาง 13,614.62 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณ 624.93 ล้านบาท ขณะนี้รอหนังสือตอบจาก สตง. หลังได้ชี้แจงกลับไป คาดลงนามสัญญาได้ก่อนวันที่ 10 ก.ย.นี้ และจะทราบอัตราค่าบริการเน็ตชายขอบไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย. โดยหากเอกชนลงทุน 30% (รัฐลงทุน 70%) อัตราค่าบริการจะอยู่ที่ 180 บาท/เดือน หากเอกชนลงทุน 20% อัตราค่าบริการอยู่ที่ 120 บาท/เดือน และหากเอกชนลงทุน 15% อัตราค่าบริการจะอยู่ที่ 107 บาท/เดือน