posttoday

กุลวรา อติเมธิน ชีวิตง่ายไว้ใจเทคโนโลยี

07 กันยายน 2560

ในโลกยุคดิจิทัลที่มีผลิตภัณฑ์มากมายในชีวิตประจำวัน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อย่างรอบด้าน

เรื่อง สมแขกภาพ กิจจา อภิชนรุจเรข

ในโลกยุคดิจิทัลที่มีผลิตภัณฑ์มากมายในชีวิตประจำวัน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อย่างรอบด้าน โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาอำนวยความสะดวกเพื่อคุณภาพในการใช้ชีวิตที่ดีกว่าและง่ายขึ้น การเริ่มต้นใช้ชีวิตครอบครัวที่บอสตันมาหลายปี ทำให้ ซิง-กุลวรา อติเมธิน ผู้บริหาร บริษัท วินเทค แมนูแฟคเจอริ่ง ผู้นำด้านการผลิตสินค้าประเภทอุปกรณ์ประตู และหน้าต่างของเมืองไทย ภายใต้แบรนด์ วีโก้ (Veco) สังเกตและมองเห็นเทรนด์ของการอยู่อาศัยที่ผูกติดกับระบบอัตโนมัติ จากโปรเจกต์ที่มหาวิทยาลัย นำมาสู่การนำมาใช้ในชีวิตจริงเมื่อเธอย้ายครอบครัวมาที่เมืองไทย

"ก่อนหน้านี้ซิงกับสามีอยู่ที่บอสตันมาหลายปี ตอนอยู่ที่โน่นเราสังเกตพบปัญหาอย่างหนึ่งว่าเวลาหอบข้าวของพะรุงพะรังทำให้เวลาเปิดประตูเข้า-ออกบ้านลำบาก บ้านเราทำธุรกิจเกี่ยวกับประตูอยู่แล้ว เราก็คิดว่าถ้ามีประตูที่เปิดรอโดยไม่ต้องควักการ์ดมาเปิดก็คงจะดี คิดเรื่องนี้เมื่อหลายปีที่แล้ว ในที่สุดก็มีคนพัฒนาระบบดิจิทัลล็อกเข้ามาตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ให้ใช้ชีวิตได้ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น

พอกลับมาเมืองไทยก็เลือกบ้านที่อยู่กลางเมืองขนาดกะทัดรัด กับครอบครัว เล็กๆ แต่บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่เราอยู่อาทิตย์ละ 2 วัน เพราะหลักๆ เราจะอยู่บ้านที่ฝั่งธนบุรีมากกว่า ดังนั้นเวลาเราเข้าเมือง จะเหมือนเราไปพักร้อน คือกระเป๋าใหญ่สัมภาระเยอะเพราะมีของลูกๆ ด้วย ซิงจึงวางแผนการอยู่อาศัยของเราให้ง่าย และปลอดภัยขึ้น เพราะเป็นบ้านที่เราไม่ค่อยได้อยู่ ก็คิดว่าใครจะมาดูแลให้เรา ประกอบกับเราขายประตูระบบอัตโนมัติ ตอนนั้นเพิ่งเริ่มมาขาย ก็เลยนำมาติดก่อน เป็นเซตเบสิก เพื่อจะต้องใช้เพื่อมาเรียนรู้ เริ่มนำมาใช้เองก่อน เราต้องรู้ก่อนว่าดีจริงไหม ใช้งานยังไง เราก็เลยติดวงจรปิดที่ เชื่อมกับระบบแอพคุมแอร์ คุมการเปิดไฟ"

กุลวรา อธิบายว่า ระบบสมาร์ทโฮมที่เธอใช้อยู่เป็นเทคโนโลยีมาจากยุโรป เธอใช้แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน เชื่อมต่อกับระบบดิจิทัลล็อกด้วยบลูทูธ และลูกเล่น ที่ทำให้เธอและสามีชอบในบ้านหลังนี้ คือการวางเซ็นเซอร์จับอุณหภูมิเวลา เดินผ่าน ไฟจะเปิดอัตโนมัติ

"อุปกรณ์พวกนี้เซตได้หลากหลายมาก ไม่ได้ใช้เปิดปิดไฟ ปิดแอร์จากมือถือเท่านั้นจบ แต่แบบนั้นเหมือนรีโมทคอนโทรลเพราะเรายังต้องควัก มือถือขึ้นมากด หรือไม่ใช่ระบบคีย์การ์ดที่จะต้องควักบัตรขึ้นมาแตะ แต่สำหรับบ้านซิงคือเราแค่เปิดบลูทูธในมือถือไว้ แค่ขับรถเข้ามาในบ้าน จอดรถก็ได้ยินเสียงปลดล็อกของประตูแล้ว เพราะเชื่อมด้วยระบบบลูทูธได้ดีมาก เดินถือกระเป๋าเข้ามาเลย ไม่ต้องเปิดมือถือ ไม่ต้องควักการ์ด แค่เราเปิดบลูทูธในมือถือไว้

ข้อสำคัญของความสบายที่เราชอบ คือสามารถตั้งค่าการทำงานตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนเลยว่า เราใช้ชีวิต ยังไงในแต่ละวัน ครั้งแรกที่เรามาอยู่บ้านเราตั้งค่าอีกฟังก์ชั่นหนึ่ง พอเราอยู่ไป สักพักจะพบว่า จริงๆ แล้วต้องการ อีกแบบหนึ่ง อย่างสามีของซิงเขาชอบออกไปวิ่งตอนเช้า เขาจะต้องออกไปตั้งแต่ตี 4-5 เพื่อไปสวนลุม เวลาออกไปวิ่งตอนเช้าฟ้าจะยังมืดอยู่ พอฟ้ามืดเดินลงบันไดก็ลำบาก ไฟที่ชั้นลอยสวิตช์อยู่ชั้นหนึ่ง ดังนั้นก็จะลำบากเวลาเดินลงมาจากชั้น 3 เขาต้องเสี่ยงเดินลงบันไดมาเพื่อเปิดไฟชั้นลอย หรือไม่ก็เดินวนไปวนมาเพื่อเปิดปิดไฟหลายรอบ

เราก็เลยย้ายไฟอัตโนมัติ จากไฟหน้าบ้านมาเป็นดวงที่จำเป็นคือไฟชั้นลอย ด้วยระบบโฮมออโตเมชั่นตัวนี้ไม่ต้องเดินสายไฟ จึงเปลี่ยนแปลงง่ายมาก เราเลยเปลี่ยนและตั้งค่าใหม่ ก็เลยเป็นว่าตอนเช้าเราเซตเวลาเลยว่า ตี 4-6 โมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มืดและสามีต้องเดินลงมาจากห้องนอน เมื่อเดินผ่านเซ็นเซอร์ก็จะรู้ว่ามีคนเดินผ่าน ไฟก็จะเปิดอัตโนมัติ แต่ถ้าเราเดินผ่านตอนกลางวันก็ไม่ได้เปิดเพราะเราไม่ได้เซตเวลาไว้ ช่วยเราได้มากอย่างน้อยก็ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น เริ่มต้นวันดีๆ โดยไม่หงุดหงิด (ยิ้ม)"

อีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากบ้านนี้เราไม่ได้เอาอะไรมาเลย ไม่ได้เอาของทิ้งไว้ ทุกคนจะมีกระเป๋าหนึ่งกระเป๋า พอเราเข้ามาในบ้านเราจะเซตไฟ แอร์ เปิดอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นระบบที่ว่าควบคุมผ่านมือถือ ก็ส่วนหนึ่ง น้อยมากที่เราจะเปิดแอพ นอกจากว่าเราไม่ได้อยู่บ้านนานๆ แล้วเป็นห่วงบ้านว่ามีเปิดแอร์ เปิดไฟทิ้งไว้ไหม ประตูปิดสนิทไหม เราเช็กได้จาก มือถือ หรือประตูมีเซ็นเซอร์ดูว่าถ้าประตูเปิดอยู่ รูปในแอพก็จะเป็นภาพประตูแง้ม แต่เราเช็กได้อีกทีผ่านแอพ

"เราไว้ใจเทคโนโลยี ใช้เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากระบบล็อกอัตโนมัติ กรณีที่เราจะอนุญาตให้คนอื่นเข้าบ้าน กรณีเราไม่อยู่บ้าน เราก็เช็กได้หรือให้เขาเข้ามารอในบ้านได้ ด้วยการเปิดบ้านผ่านสมาร์ทโฟนได้ อย่างซิงเพิ่มคุณแม่เข้ามาในแอพด้วย เวลาคุณแม่มาหาเราที่บ้าน ท่านก็เข้าบ้านเราได้เลยโดยไม่ต้องมีกุญแจ" กุลวรา พูดถึงบ้านหลังเล็กที่เต็มไปด้วยมุมสะดวกสบายจากเทคโนโลยีของเธอ