posttoday

แห่คืนช่องทีวีดิจิทัล

05 กันยายน 2560

กสทช.เล็งชงแนวทางคืนคลื่นทีวีดิจิทัลให้ คสช.พิจารณา หลังผู้ประกอบการแห่คืนคลื่น ระบุมีไม่เกิน 15 ช่องอยู่รอดได้

กสทช.เล็งชงแนวทางคืนคลื่นทีวีดิจิทัลให้ คสช.พิจารณา หลังผู้ประกอบการแห่คืนคลื่น ระบุมีไม่เกิน 15 ช่องอยู่รอดได้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.กำลังพิจารณาเสนอทางออกให้กับธุรกิจทีวีดิจิทัล เพราะต้องยอมรับว่าจำนวนช่องที่มี อยู่มากเกินไป คือ 24 ช่อง ขณะที่ เม็ดเงินโฆษณามีอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และถูกแย่งตลาดจากสื่อดิจิทัล ออนไลน์อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่า 1.8-2 หมื่นล้านบาท

"ผู้ประกอบการเสนอมาว่าจะขอคืนใบอนุญาตได้ไหม โดยเงินที่จ่ายแล้วก็จ่ายไป แต่ส่วนที่เหลือไม่ต้องชำระ ซึ่งจากการศึกษากฎหมายแล้วไม่สามารถทำได้ ถ้าจะทำต้องแก้กฎหมาย โดยเสนอให้หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดำเนินการ" นายฐากร กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับปีนี้ กสทช.ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปแล้ว โดยยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลออกไปอีก 9 เดือน ซึ่งจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา ที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ช่องทางดิจิทัล ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหามาก ยิ่งขึ้น เพราะการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัล ลงทุนสูงหลักพันล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินโฆษณามีจำกัด

นายฐากร กล่าวว่า สัดส่วนจำนวน ช่องทีวีดิจิทัลที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ควรมีประมาณ 15-16 ช่อง เมื่อหารเฉลี่ยจากรายได้ของอุตสาห กรรมโฆษณามูลค่าแสนล้านบาท เฉลี่ยแล้วจะมีรายได้ช่องละ 6,000-7,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะสามารถอยู่รอดได้ ปัจจุบันผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจ่ายค่าตอบแทนให้กับ กสทช.แล้วประมาณ 40% เหลืออีกประมาณ 60%

ขณะเดียวกันสื่อโทรทัศน์ต้องเร่งปรับตัว เพราะปัจจุบันสื่อโซเชียล มีเดียมีอิทธิพลต่อการรับชมรายการของผู้ชมอย่างมาก ซึ่ง กสทช.กำลังเร่งดำเนินการยกร่างหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลรายการโทรทัศน์ผ่านสื่อออนไลน์ (โอทีที) ที่ขยายตัวอย่างมาก โดยในวันที่ 11-12 ก.ย. จะมีการ ประชุมระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการรับชมรายการโทรทัศน์และวิทยุผ่านสื่อออนไลน์ร่วมกัน

สำหรับกรณีกลุ่มเบียร์ช้างของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าถือหุ้นในบริษัทผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 2 ราย ได้แก่ กลุ่มอมรินทร์ทีวี และจีเอ็มเอ็มนั้น สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นเพียงการเข้ามาถือหุ้น ไม่ได้ เปลี่ยนมือ และไม่เข้าข่ายเกณฑ์อำนาจ เหนือตลาด