posttoday

แนะทางโตสตาร์ทอัพไทย "อย่ากลัวความล้มเหลว"

03 กันยายน 2560

แม้จุดอ่อนของสตาร์ทอัพไทยยังมี แต่จุดแข็งด้านความสร้างสรรค์และความเก่งของคนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

โอกาสของสตาร์ทอัพในยุคที่ทุกฝ่ายหนุนให้เดินหน้าแบบ 4.0 เพื่อให้ทันกับยุคปรับตัวของธุรกิจแบบเดิม ทำให้สตาร์ทอัพต้องมาช่วยเสริมทีมให้มีความแข็งแรงทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นอีกหนึ่งช่องทางรายได้ที่ทำให้มีการเติบโต

บียอร์น ลี กูรูแห่งวงการสตาร์ทอัพระดับเอเชีย เล่าว่า ปัจจุบันกระแสการทำธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นเติบโตขึ้นมากและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งด้วยความสร้างสรรค์เหล่านี้ทำให้ผู้ก่อตั้งไม่ได้มองตลาดระดับโลก ส่งผลให้ธุรกิจไม่สามารถต่อยอด หรือขยายไปยังต่างประเทศได้ การใช้เทคนิค และเทคโนโลยีมาช่วย เพื่อให้ได้ฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลาและงบประมาณที่จำกัด รวมทั้งมัดใจผู้ใช้และขยายตลาดที่กว้างขึ้นในอนาคต หรือเรียกว่า Growth Hacking ถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

“โกรทแฮกกิ้ง คือ การวัดผลธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เมื่อได้จุดนั้นก็ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าง่ายขึ้น” ลี กล่าว

ลี ยังได้แนะนำ 3 ข้อหลักที่สตาร์ทอัพควรทำ คือ การเลือกซื้อโฆษณาในโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ลูกค้าเห็นบริการของเราตลอดเวลา ยิ่งไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีการใช้งานเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบสูงที่สุดในเอเชีย ยิ่งไม่ควรมองข้าม และโฆษณาจะช่วยทำงานแทนในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่สนใจได้เห็น

นอกจากนี้ ควรทำวิดีโอคอนเทนต์ขึ้นมา เพราะคนไม่ชอบอ่านหนังสือและมีความตั้งใจดูโพสต์โฆษณาเพียง 1.7 วินาทีแรกเท่านั้น การใช้คลิปวิดีโอจะตอบโจทย์แบรนด์มากกว่า ซึ่งหากคนดูสนใจความยาวของวิดีโอที่ประมาณ 15 วินาที จะดึงดูดให้ดูต่อจนจบ หากนานกว่านั้นคนจะไม่สนใจแล้ว และสุดท้ายการส่งอีเมลแจ้งเตือนให้ลูกค้ากว่า 80% พบว่าต้องมีเนื้อหาสำคัญในบรรทัดแรกเลย ถ้าอ่านแล้วไม่ตรงกับข้อมูลที่ต้องการคนจะลบทันที และควรอธิบายสินค้าของเราให้ได้ 7 คำ หรือ 24 วินาทีแรกที่ผู้รับเปิดเมลมาเจอ

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีสตาร์ทอัพไทยที่เติบโตได้ในระดับโลกน้อยมาก แต่มีโอกาสเติบโตมากกว่าหลายๆ ประเทศในเอเชีย เพราะสตาร์ทอัพไทยมีความคิดสร้างสรรค์และมีความยูนีกสูงมากเมื่อเทียบกับต่างชาติ ยิ่งสตาร์ทอัพเข้ามาช่วยตอบโจทย์ปัญหาอะไรก็ตามยิ่งมีความท้าทาย แต่ถึงอย่างไรก็ควรหาจุดโฟกัสหรือปัญหา (Pain Point) หลัก ในประเทศตัวเองให้ได้ก่อนค่อยต่อยอดไประดับโลก เพราะคนท้องถิ่นย่อมเข้าใจปัญหาของตัวเองดีสุด จากนั้นค่อยมองหาประเทศที่มีปัญหาคล้ายๆกัน

เนียร์ อียาล กูรูและที่ปรึกษาเทคสตาร์ทอัพระดับโลกอย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และลิงค์อิน ให้ทัศนะว่าปัญหาหลักที่คนรุ่นใหม่ยังกังวลในการเข้ามาเป็นสตาร์ทอัพคือความล้มเหลว เพราะสตาร์ทอัพที่ไม่ประสบความสำเร็จทั่วโลกมีกว่า 72% ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก ถ้าเคยล้มจะยิ่งมีทักษะและโอกาสก้าวหน้าในอนาคตมากขึ้น ไม่มีใครสำเร็จได้ตั้งแต่ต้น

การไม่กลัวความล้มเหลวนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติมากในต่างประเทศ เพียงแค่คนส่วนใหญ่จะรู้จักแต่สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ อย่าง เฟซบุ๊กอูเบอร์ แอร์บีเอ็นบี ทั้งที่ความจริงแล้วยังมีอีกหลายร้อยสตาร์ทอัพที่ล้มหายไปกลางทาง การสนับสนุนของภาครัฐในประเทศนั้นๆ การมีเวนเจอร์แคปปิตอลเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ยิ่งเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ทราบว่ามีพื้นที่ให้สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่เสมอ

แต่สิ่งที่นักลงทุนมอง หรือสตาร์ทอัพที่มีโอกาสโตได้นั้น ต้องมีโอกาสเติบโตได้ในระดับโลก สร้างรายได้ในอนาคตมหาศาลและยังมีผู้เล่นในตลาดนั้นๆ ไม่มากนัก ถ้ายิ่งแก้ปัญหาขนาดใหญ่ได้ยิ่งเป็นเรื่องดี เพราะจะเป็นความท้าทายถ้ามองปัญหาในระดับเล็กจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ยาก โอกาสเติบโตก็เหนื่อยมาก แม้จะสำเร็จในประเทศตัวเองแต่นักลงทุนอาจไม่สนใจ

รัชวุฒิ พิชยาพันธ์ ผู้บริหารฝ่ายการตลาด Fixzy แอพพลิเคชั่นหาช่างซ่อม เล่าให้ฟังว่า ฟิกซี่เป็นบริการหาช่างซ่อมและทำความสะอาดบ้านที่ให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งขณะนี้มีทีมช่างแล้วกว่า 3,600 ทีม ยอดดาวน์โหลด 9 หมื่นครั้ง เป็นผู้ใช้งานแบบแอ็กทีฟ 6 หมื่นราย มีการเรียกใช้งานวันละ 60-70 ครั้ง ยอดเฉลี่ยการใช้จ่ายวันละ 600 บาท

ทั้งนี้ ความต้องการใช้งานบริการงานช่างซ่อมถือว่าเติบโตขึ้นมาก เพราะคนสมัยนี้ไม่ได้ชำนาญในเรื่องงานบ้าน ซึ่ง ฟิกซี่ เพิ่งมีความร่วมมือกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งเอสซีแอสเซท ดีแลนด์และพฤกษา โดยเข้าไปช่วยบริการงานซ่อมหลังเสร็จสิ้นการขาย

สำหรับการร่วมมือดังกล่าว จะเป็นลักษณะของการเข้าไปช่วยเสริมเรื่องงานบริการทั้งงานส่วนกลางและงานบ้าน เพื่อยกระดับบริการหลังการขายให้ดีขึ้น การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์นั้นเป็นระยะสัญญายาว 1-3 ปี หากไม่มีข้อร้องเรียนก็จะเป็นการร่วมมือต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการขยายงานบริการไปยังหัวเมืองใหญ่อย่าง จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น และโคราช ซึ่งมีการคุยกับพาร์ตเนอร์ในท้องที่เรียบร้อยแล้ว

ด้าน ฟินโนมีน่า แอพพลิเคชั่นให้ข้อมูลด้านการเล่นหุ้น กล่าวเสริมว่า ผู้ใช้งานมีกว่า 1,200 ราย สร้างรายได้กว่า 1,200 ล้านบาท ตั้งเป้าสิ้นปีนี้ให้เติบโต 5 เท่า สร้างรายได้ให้ผู้ใช้งานกว่า 6,000 ล้านบาท เพราะเห็นโอกาสจากการลงทุนของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีการลงทุนล่วงหน้า ยิ่งในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 เท่าของประชากรทั้งหมด หรือ 15 ล้านคน และหวังพึ่งพาแต่เบี้ยชราภาพ

แม้ว่าจุดอ่อนของสตาร์ทอัพไทยยังมี แต่จุดแข็งด้านความสร้างสรรค์และความเก่งของคนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก หากคนรุ่นใหม่มองเรื่องการนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนชีวิตได้ดีขึ้น จะมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจและน่าลงมือทำเช่นกัน