posttoday

กสทช.เดินหน้าประมูลคลื่นมือถือ เผยมีหน้าใหม่2-3รายพร้อมชิง

03 กันยายน 2560

กสทช.ชงบอร์ดเดินหน้าประมูลคลื่นมือถือ 2600 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ภายใน มี.ค. 2561 เผยเอกชน 2-3 รายใหม่สนประมูล

กสทช.ชงบอร์ดเดินหน้าประมูลคลื่นมือถือ 2600 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ภายใน มี.ค. 2561 เผยเอกชน 2-3 รายใหม่สนประมูล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในหัวข้อ “อนาคตธุรกิจโทรคมนาคมไทย” จัดโดยหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) สถาบันมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ว่า จะเดินหน้าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ตามโรดแมปที่วางไว้

ทั้งนี้ แม้คณะกรรมการ กสทช.จะหมดวาระวันที่ 7 ต.ค. 2560 นี้ แต่ทางสำนักงานจะเสนอให้ดำเนินการประมูลต่อไป โดยคาดว่าหลักเกณฑ์การขอคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ของ บริษัท อสมท จะเปิดรับฟังความเห็นในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ เพื่อดำเนินการประมูลในช่วง ธ.ค. หรือ ม.ค. 2561

ปัจจุบัน อสมท ครอบครองคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 120 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งการขอคืนต้องพิจารณาว่าจะคืนเท่าใด และมีมาตรการเยียวยาอย่างไร โดยมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาจากตัวแทนผู้เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ เป็นต้น จะช้าหรือเร็วอยู่ในขั้นตอนนี้ จากนั้นจึงจะสามารถกำหนดราคาคลื่นได้

อย่างไรก็ตาม ที่มีแผนประมูลชัดเจนแล้ว คือ คลื่น 1800 ของ บริษัทกสท โทรคมนาคม ปัจจุบันดีแทครับสัมปทาน จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์จะสิ้นสุด ก.ย. 2561 และคลื่น 900 อีก 10 เมกะเฮิรตซ์ โดยมติบอร์ดคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กำหนดราคาตั้งต้นไว้แล้วว่าจะต้องไม่ต่ำกว่าการประมูลครั้งก่อน หรือ 7.5 หมื่นล้านบาท

นายฐากร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการ 2-3 ราย เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ รวมทั้งผู้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการประเภทที่ 3 อยู่แล้ว ติดต่อเข้ามาแจ้งความจำนงว่าสนใจจะประมูล จึงมั่นใจว่าการเปิดประมูลครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่มีผู้ประมูลค่อยมาทบทวนอีกครั้งเรื่องราคาตั้งต้น แต่เบื้องต้นต้องยืนยันตามมติเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในแง่การแข่งขันของธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศ

“ในช่วง 2-3 ปีนี้ เชื่อว่าจะเป็นปีทองของธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศ โดยเป็นช่วงของการลงทุน และขยายธุรกิจ ขณะที่การจ่ายค่าธรรมเนียมไม่สูงนัก จะเห็นได้ว่าแม้ผู้ประกอบการมีกำไรลดลง แต่ยังมีผลประกอบการที่ดี
สูงกว่าตลาดโดยรวม แต่เชื่อว่าจะผ่านพ้นวิกฤตในปี 2563 ที่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลส่วนที่เหลือ ซึ่งค่อนข้างสูง” นายฐากร กล่าว

ทั้งนี้ ทั้งบริษัท เอไอเอส และทรู มีภาระต้องจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 4จี ส่วนที่เหลือทั้งหมดในปี 2563 คิดเป็นเงิน 6.4 และ 6.3 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ปี 2561 และ 2562 จ่ายค่าประมูลปีละ4,301 ล้านบาท

นายฐากร กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในช่วง 2 ปีนี้ ต้องเร่งขยายธุรกิจ ขยายฐานลูกค้า เพื่อนำผลกำไรไปชำระเงินค่าประมูลในปี 2563 เชื่อว่าไม่มีปัญหา ผลจากการศึกษาผู้ที่ประมูลได้คลื่นความถี่แม้จะมีต้นทุนสูงขึ้น แต่มีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เปรียบเทียบกับผู้ที่ประมูลไม่ได้ แนวโน้มรายได้ลดลงอย่างชัดเจน เพราะเกิดการย้ายค่าย เพราะฉะนั้นเชื่อว่าการประมูลครั้งใหม่นี้ค่ายผู้ประกอบการยังมีความต้องการใช้คลื่นความถี่เพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจุบันประเทศไทยใช้คลื่นความถี่รวม 420 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งต่ำกว่าที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู กำหนดว่าการใช้คลื่นสำหรับโทรคมนาคมจะอยู่ที่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ความต้องการใช้คลื่นความถี่ของประชาชนมีเพิ่มขึ้น โดยก่อนประมูลมี80 ล้านเลขหมาย ปัจจุบันมี 121 ล้านเลขหมาย และแนวโน้มมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการด้านอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือไอโอที