posttoday

พลิกโฉมสวนจตุจักร 4.0 ดึงแอพเชื่อมโลกออนไลน์

31 สิงหาคม 2560

การมีแอพพลิเคชั่น Chatuchak Guide ช่วยให้ลูกค้าสามารถหาร้านค้าเจอได้ง่ายขึ้นจากโทรศัพท์มือถือ

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

ปัจจุบันผู้ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)กำลังถูกท้าทายจากเทค โนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งการขายสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซและมาร์เก็ตเพลส ซึ่งรายเล็กที่ขาดความรู้และความเข้าใจก็ทยอยล้มหายตายจาก เพราะปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง ล่าสุด ไทยพาณิชย์จึงร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พลิกโฉมตลาดนัดสวนจตุจักรสู่ยุค 4.0 โดยนำเทคโนโลยีมาเชื่อมกับโลกออฟไลน์

อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส ผู้ดำเนินธุรกิจดูแลด้านฟินเทคและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในสวน จตุจักรมีร่วม 1 หมื่นราย แต่กำลังเผชิญกับปัญหาเทรนด์การซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น

ในขณะที่ช่องทางออฟไลน์หรือลูกค้าที่มาซื้อสินค้าในสวนจตุจักร คือจำนวนร้านมากมายหลายโครงการ ทำให้ผู้ซื้อสินค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศหาร้านค้าไม่เจอ ไทยพาณิชย์จึงเปิดตัวแอพพลิเคชั่น Chatuchak Guide สำหรับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าสามารถค้นหาและเดินหาร้านค้าโดยไม่หลง ด้วยแผนที่อัจฉริยะที่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งร้านค้า จากเทคโนโลยี Geomagnetic

นอกจากนี้ ร้านค้ายังสามารถจัดโปรโมชั่นจากร้านค้าได้แบบเรียลไทม์ ส่วนบนแอพพลิเคชั่นยังสามารถให้ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าสามารถรีวิวหลังจากซื้อสินค้าและบริการซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ารายอื่นๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถรองรับการใช้งานทั้งภาษาไทย อังกฤษ และจีน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าทุกกลุ่มทั้งชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยวางแผนจะเปิดให้ใช้งานได้เต็มรูปแบบภายในเดือน พ.ย. และในอนาคตจะขยายผลนำโมเดลต้นแบบจตุจักรบนดิจิทัลแพลตฟอร์มไปใช้กับเอสเอ็มอีทั่วประเทศต่อไป

ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นสำหรับร้านค้าเปรียบเสมือนเป็นระบบช่วยในการขายหรือ POS ที่ครบวงจรให้แก่ร้านค้า โดยผู้ขายสามารถบริหารจัดการสต๊อกสินค้า เช็กรายงานการขายรายวัน และรับชำระเงินด้วยพร้อมเพย์ได้ ช่วยให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเพิ่มความคล่องตัวในการรับชำระงินที่สะดวกปลอดภัย ซึ่งร้านค้าที่จะเข้าร่วมต้องเปิดบัญชีพร้อมเพย์กับไทยพาณิชย์ พร้อมกับดาวน์โหลด SCB EASY APP

อย่างไรก็ดี ในอนาคตไทยพาณิชย์จะดึงอาลีเพย์ วีแชตเพย์ เพื่อให้บริการกับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาซื้อสินค้าในสวนจตุจักรเป็นจำนวนมาก โดยภายในเดือน ต.ค. คาดว่าจะดึงร้านค้าจตุจักรเข้ามาร่วม 1,000 ราย นอกจากนี้ยังวางแผนเปิดแคมเปญสำหรับกลุ่มผู้บริโภค และในช่วงปลายปีเตรียมเปิดตัวแคมเปญเทศกาลของขวัญ เพื่อสร้างการรับรู้และดึงให้เข้ามาดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสำหรับการใช้งาน หลังจากนั้นวางเป้าหมายดึงร้านค้าเข้ามาร่วม 8,000 ร้านค้า

“ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีของไทยพาณิชย์มีร่วม 2 แสนราย ส่วนในจตุจักรมีราว 1,000 ราย เรามองว่าธุรกิจธนาคารต้องปรับตัวเป็นมากกว่าแค่แบงก์กิ้ง คือก้าวสู่ดิจิทัล รีเทล เพราะกระแสฟินเทคเป็นเทรนด์ที่กำลังมา ขณะเดียวกันมองว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีมีความสำคัญต้องสร้างให้แข็งแกร่ง เมื่อลูกค้าอยู่ได้เราก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้”อรพงศ์ กล่าว

วีระ วานิช ผู้ร่วมบริหารกระเป๋าหนังและผลิตภัณฑ์ของใช้จากหนังแฮนด์เมดแบรนด์ วานิชเชษฐ์ (Vanichet) กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการกับไทยพาณิชย์ เพราะปัญหาส่วนใหญ่ของลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของร้าน 80% ส่วนใหญ่จะหาร้านค้าไม่เจอแม้กระทั่งเปิดกูเกิลแล้วยังมีโอกาสไม่เจอ แต่การมีแอพพลิเคชั่น Chatuchak Guide สามารถทำให้เข้าถึงร้านค้าได้ และการมีระบบการชำระเงินในรูปแบบฟินเทค ยิ่งทำให้มีความสะดวกรวดเร็ว

ด้านเจ้าของร้านกระเป๋า Zinc ในตลาดนัดจตุจักร กล่าวว่า แม้ว่าเทรนด์การซื้อสินค้าออนไลน์จะมากขึ้น แต่ช่องทางออฟไลน์ โดยเฉพาะจตุจักรก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างประเทศ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การขายสินค้าแฮนด์เมด ผลิตขึ้นจากฝีมือคนไทยที่ประณีต และสุดท้ายไม่ว่าออนไลน์จะขยายตัวมากแค่ไหน พฤติกรรมของคนก็ยังคงต้องการสัมผัสกับสินค้ามากกว่า

การมีแอพพลิเคชั่น Chatuchak Guide ช่วยให้ลูกค้าสามารถหาร้านค้าเจอได้ง่ายขึ้นจากโทรศัพท์มือถือ แต่ปัญหาคือทำอย่างไรให้ลูกค้าจากต่างประเทศ ซึ่งต้องประชาสัมพันธ์แอพให้เป็นที่รู้จัก

ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน ประธานกรรมการบริหารพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ความร่วมมือในการพัฒนาตลาดจตุจักรระหว่าง รฟท. และธนาคารไทยพาณิชย์ นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาตลาดเปิดไปสู่รูปแบบดิจิทัลที่ทันสมัย และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

ขณะที่ร้านค้าจะได้รับประโยชน์ด้านการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจากแพลตฟอร์มที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้พัฒนาขึ้น อีกทั้งยังได้รับโอกาสนำเสนอ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร้านค้าต่างๆ ไปสู่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายโดยตรง เป็นการเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงร้านค้าได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นจากหน้าร้าน ออนไลน์และระบบนำทาง สำหรับตลาดจตุจักรมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ สามารถยกระดับเป็นแลนด์มาร์คด้านการช็อปปิ้งในระดับเอเชียได้ในอนาคต

ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นใหม่ ที่เข้ามาเปิดมิติผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งการพลิกโฉมร้านค้าในตลาดนัดจตุจักรนี้จะเป็นโมเดลต้นแบบให้กับดิจิทัลแพลตฟอร์มไปยังเอสเอ็มอีอื่นๆ ทั่วประเทศในอนาคต อย่างไรก็ดีการผลักดันตลาดนัดสวนจตุจักรเข้าสู่ยุค 4.0 ยังคงเป็นสเต็ปแรกๆ ที่ใช้แอพพลิเคชั่นเชื่อมโลกระหว่างออฟไลน์ให้การช็อปปิ้งทำได้ง่ายขึ้น

นับจากนี้ จะมีการต่อยอดแอพพลิเคชั่นจากแค่แนะนำร้านค้าไปสู่ช่องทางการขายอย่างเต็มตัวต่อไปในอนาคตแน่นอน เพราะไทยพาณิชย์ประกาศชัดเจนว่า จะไม่อยู่แค่แบงก์กิ้ง แต่ต้องไปสู่ดิจิทัล รีเทล