posttoday

สิ่งถูกแทนที่

26 สิงหาคม 2560

“เทคโนโลยี คือสัญลักษณ์ของอนาคต” สโลแกนทำนองนี้ ไม่เพียงแต่มีอานุภาพในการผลักดันให้ทุกสิ่งที่อยู่ในข่ายที่ถูกนับเป็นเทคโนโลยี

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

“เทคโนโลยี คือสัญลักษณ์ของอนาคต” สโลแกนทำนองนี้ ไม่เพียงแต่มีอานุภาพในการผลักดันให้ทุกสิ่งที่อยู่ในข่ายที่ถูกนับเป็นเทคโนโลยี ต่างแข่งขันกันก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างแทบไม่มีวันหยุด ในขณะที่สิ่งที่เคยถูกคิดค้นและสร้างขึ้นในอดีต นอกจากจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง กลายเป็นเรื่องปรัมปราได้อย่างรวดเร็วแล้ว หลายศักยภาพที่เคยมีและถูกยกย่อง กลายเป็นเสมือนภาพล้อไปในที่สุดอีกด้วย

ในทางเดียวกัน หากไม่หลงลืมไปว่าหลายสิ่งนั้นถูกคิดค้นเพื่อทำงานแทนคน ซึ่งว่ากันตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ภาพล้อนั้นก็กลายกลับเป็นเรื่องยอกใจเราได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเมื่อคิดไปว่าความสะดวกสบายและรวดเร็วขึ้นนั้นแลกกับการสูญเสียอะไรบ้าง

ผมจำยุคที่โทรศัพท์มือถือออกมาสู่ตลาดใหม่ๆ ได้เลาๆ และเมื่อย้อนกลับไปดูคุณสมบัติของโทรศัพท์มือถือยุคโน้นที่ถูกหยิบมาจูงใจผู้ซื้อ เรียงลำดับตั้งแต่ยุคแรกๆ อย่าง “โทรศัพท์เครื่องนี้สามารถบันทึกหมายเลขติดต่อได้มากกว่าสิบราย” “มีเสียงเรียกเข้าให้เลือกมากกว่าสิบแบบ” “มีขนาดใหญ่แข็งแรงใช้งานคงทน” “มีขนาดเล็กกะทัดรัดบางเฉียบ” “มีระบบสั่นเมื่อมีสายเรียกเข้า” “เปลี่ยนหน้ากากหุ้มตัวเครื่องได้” “เปลี่ยนภาษาได้ มีภาษาไทยให้เลือก” “ปุ่มกดมีไฟเรืองแสงทำให้โทรได้แม้อยู่ในที่มืด” “ส่งข้อความและภาพ (เป็นเม็ดพิกเซลขนาดไม่กี่บิต) ได้” “จอสี” ฯลฯ

แน่นอนว่าคุณสมบัติที่ว่ามาเป็นสิ่งน่าประหลาดใจ จนกลายเป็นเรื่องน่าขำชวนหัวสำหรับคนยุคใหม่ที่โตไม่ทัน หรือกระทั่งผู้ใช้ในยุคปัจจุบันที่ยังจำความได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะสมาร์ทโฟนยุคปัจจุบันทำอะไรได้ดีกว่าที่กล่าวมาหลายเท่า

นอกจากทำลายความสามารถที่เคยแสนพิเศษสำหรับโทรศัพท์มือถือในยุคหนึ่งไปอย่างราบคาบแล้ว ข้อจำกัดในการใช้งานที่ถูกทำลายลงทุกๆ วันยังก้าวเข้าไปแทนที่อุปกรณ์อื่นๆ อย่างสิ้นเชิงอีกด้วย ตั้งแต่เป็นวิทยุ เครื่องเล่นเพลง โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือกระทั่งแท็บเล็ตยุคใหม่ก็ถูกไล่กวด แย่งชิงพื้นที่ ชิงโอกาสครองใจผู้บริโภคจนยากจะทำนายได้ ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรต่อไปในวันข้างหน้า

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นยุคที่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตก้าวขึ้นมาเป็นอุปกรณ์คู่กายของเรา เพราะฟังก์ชั่น ฟีเจอร์ความสะดวกสบายที่มีให้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานมือถือเดิมไปอย่างสิ้นเชิง และด้วยวิวัฒนาการที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วซึ่งจับมือกับการตลาดที่แยบยล แรงกระตุ้นจากบรรดาผู้ผลิตที่แข่งกันเปิดตัวรุ่นใหม่ทุกปี ส่งผลให้เดิมโทรศัพท์มือถือที่เคยซื้อมาแล้วใช้งานได้ยาวนานสี่ห้าปี กลายเป็นต้องเปลี่ยนสมาร์ทโฟนใหม่ทุกๆ ครึ่งปี

เพื่อรองรับความต้องการ วงการนี้ขจัดความยุ่งยากในการถ่ายโอนข้อมูลจากเครื่องเก่าไปยังเครื่องใหม่ ทั้งด้วยการฝากข้อมูลโทรศัพท์ไว้ในระบบออนไลน์ หากเครื่องสูญหายหรือชำรุดเสียหายก็เรียกข้อมูลที่เคยมีกลับมาได้

โทรศัพท์มือถือตั้งแต่ยุคแรกๆ นั้นเริ่มก้าวเข้ามาเปลี่ยนอุปนิสัยของเราอย่างแนบเนียน เมื่อก่อนสมัยที่ยังนิยมใช้โทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์สาธารณะ หลายคนยังมีสมุดจดเบอร์โทรศัพท์พกติดตัว ได้เบอร์ติดต่อมาใหม่ก็จดหรือเติมไปในหมวดหมู่ที่จัดการไว้แล้วตามสมุดที่ซื้อมา เอาสมุดเปล่ามาจัดการเอง หรือกระทั่งสามารถจดจำหมายเลขโทรศัพท์ของคนสำคัญๆ ได้ และเมื่อโทรศัพท์เริ่มมีระบบจดจำแทน เรื่องนี้ก็ค่อยๆ ถูกละเลยไป นอกจากไม่จดแล้วอย่าว่าแต่จำเบอร์ติดต่อของคนสำคัญเลย เชื่อว่ากระทั่งเบอร์ตัวเองบางคนก็บอกไม่ได้ด้วยซ้ำไป

เมื่อเราไม่ต้องใช้ความจำแบ่งไปใช้จำหมายเลข ก็อาจจะคาดได้ว่าความสะดวกสบายนี้ กำลังเอื้อให้เอาความจำอันมีค่าไปใช้จำอย่างอื่นแทน เช่น เตือนตัวเองเมื่อถึงเวลานัดพบปะกับใคร เวลาในการกินยา ออกกำลังกาย เข้านอน หรืออะไรก็ตามที่เห็นว่าสำคัญ แต่ก็ดูเหมือนว่าทั้งหมดก็มีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยทำหน้าที่แทนความจำที่ว่าได้ทั้งสิ้น สมาร์ทโฟนจึงไม่เพียงแต่ก้าวเข้ามาตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่เท่านั้น ยังเข้ามากำหนดบุคลิกภาพ หรือกระทั่งกุมชะตาในแต่ละวันที่ลากยาวไปถึงอนาคตอันยากจะคาดเดาอีกด้วย

และเมื่ออ่านรายงานวิทยาศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องความชาญฉลาดของระบบคอมพิวเตอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งแน่นอนว่าพัฒนาการนั้นจะส่งผลให้โทรศัพท์มือถือยิ่งฉลาดกว่าที่เป็นอยู่ขึ้นไปอีก ก็น่าจิตนาการว่าเมื่อถึงเวลานั้น ความสามารถในการจดจำที่แสนกระจ้อยร่อยและแทบไม่ได้ใช้งานของเรา จะหลงเหลือความหมายอะไรอีกบ้าง