posttoday

3 โอเปอเรเตอร์ แข่งเพิ่มลอยัลตี้แบรนด์

24 สิงหาคม 2560

นอกจากเรื่องของเครือข่ายและแพ็กเกจที่ โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ค่ายแข่งกันอย่างดุเดือดแล้ว

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ        

นอกจากเรื่องของเครือข่ายและแพ็กเกจที่ โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ค่ายแข่งกันอย่างดุเดือดแล้ว พูดได้ว่าเรื่องของสิทธิพิเศษก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยดึงให้ลูกค้ามีความเป็นลอยัลตี้ต่อแบรนด์ และลดอัตราการย้ายค่ายได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งบางค่ายลูกค้ายอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้ใช้งานสิทธิประโยชน์ต่างๆ

บุษยา สถิรพิพัฒน์กุล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารลูกค้าและการบริการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า จุดเด่นของสิทธิพิเศษสำหรับเซเรเนดคือเน้นทุกงานด้านบริการและสิทธิประโยชน์ โดยเน้นในเรื่องกิจกรรมเป็นหลัก

สำหรับเอไอเอสใช้คอนเซ็ปต์ The Ultimate Life Experience เพิ่มสิทธิพิเศษเข้าไปอีก 4 ด้าน คือ 1.ขยาย เอไอเอสคลับเพิ่มจากเดิมที่มี 4 แห่ง เป็น 11 แห่ง ใน กทม.และหัวเมืองใหญ่ภายในปีนี้ 2.เพิ่มไลฟ์สไตล์ที่เป็นปาร์ตี้แบบเอ็กซ์คลูซีฟในลูกค้าแฟนคลับ 3.เจาะกลุ่มสตาร์ทอัพหรือนักธุรกิจหน้าใหม่ ด้วยการเพิ่มพื้นที่ในการทำงานและความรู้ร่วมกับพาร์ตเนอร์ และ 4.พริวิลเลจร้านอาหาร ซึ่งร่วมมือกับวงในให้ลูกค้าในแต่ละท้องถิ่นได้รับประสบการณ์พิเศษมากขึ้น ทั้งร้านอาหาร ห้องพัก ห้างสรรพสินค้าและทริปต่างๆ

"การเดินหน้าสิทธิพิเศษต่อเนื่อง 10 ปี ทำให้เข้าใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการและลดอัตราการย้ายค่ายได้ เรียกได้ว่าลดลงจนแทบจะน้อยกว่า 1% เพราะสิทธิพิเศษที่ครอบคลุมทุกด้านในการใช้ชีวิต รวมทั้งการมีเลขาฯ ส่วนตัวก็ เป็นอีกหนึ่งบริการเสริมที่ลูกค้าพอใจ" บุษยา กล่าว

ด้าน ปริศนา รัตนสุวรรณศรีผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาดธุรกิจโพสต์เพด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค เล่าให้ฟัง ว่า สิทธิประโยชน์ด้านไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่มีร้านค้ากว่า 2.5 หมื่นร้านค้า เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 หมื่นร้านค้า และสิ้นปี 2560 คาดว่าจะมีถึง 3 หมื่นร้านค้าทั่วประเทศ

"ดีแทคจะใช้งบด้านสิทธิประโยชน์ลูกค้ากว่า 400-500 ล้านบาท/ปี เพื่อเข้าถึงทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า" ปริศนา กล่าว

ขณะที่งานบริการลูกค้าถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างหลักที่บริษัทให้ความสำคัญในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาเครือข่ายและการให้บริการที่ดีที่สุด ใส่ใจและดูแลลูกค้าด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจ ควบคู่กับกลยุทธ์ซีอาร์เอ็มที่มอบสิทธิพิเศษและบริการให้ลูกค้าเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความผูกพันกับลูกค้าอย่างต่อเนื่องและยาวนานขึ้น ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ บลูเมมเบอร์ถือว่าเป็นสิทธิพิเศษที่ให้แก่ลูกค้า ที่มียอดใช้จ่ายมากกว่า 2,000 บาทในแต่ละเดือน หรือลูกค้าที่อยู่กับดีแทคมายาวนานกว่า 20 ปี โดยมียอดใช้จ่ายเดือนละ 300 บาท สำหรับลูกค้าดีแทคร่วมเปิดประสบการณ์ประทับใจที่คัดสรรมา อาทิ บริการผู้ช่วยส่วนตัว บริการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนนบริการรถรับ-ส่งสนามบิน ฟรีเมนูพิเศษจากร้านค้าและร้านอาหารชั้นนำ เป็นต้น

ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ ผู้ช่วยบริหารงานประธานคณะผู้บริหาร ด้านแบรนด์และการสื่อสาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า นอกจากสิทธิพิเศษของลูกค้าแล้ว ทรูสเฟียร์ เฟิร์สคลาส โค-เวิร์กกิ้งสเปซ ถือว่าเป็น อีกหนึ่งบริการที่ลูกค้าชื่นชอบเป็น อย่างมาก

ฝั่งทรูฯ ได้แบ่งบริการเป็น 2 ส่วน คือ สิทธิพิเศษ ที่เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เน้นเรื่องของกินดื่ม-ช็อปปิ้งและท่องเที่ยว และด้านบริการ ถือเป็นส่วนเสริมที่ช่วยในกรณีฉุกเฉินได้ไม่แพ้กัน ซึ่งจะมอบให้กับลูกค้าแบล็ก การ์ดที่มียอดการใช้จ่าย 3,000 บาท/เดือน ส่วนเรดการ์ดต้องมียอดการใช้จ่าย 2,000 บาท/เดือน

จากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่นิยมทำงานนอกสถานที่มากขึ้นทำให้ความต้องการใช้งานโค-เวิร์กกิ้งสเปซเพิ่มเติมขึ้น ทั้งแบบสตาร์ทอัพ หน่วยงานภาครัฐหรือผู้ให้บริการโทรคม นาคม ต่างก็มีการแข่งขันมากขึ้น โอกาสของผู้แข่งขันในตลาดโค- เวิร์กกิ้งสเปซคือ สาขาที่ใกล้และสะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งการขยายสาขาจำเป็นต้องดูความเหมาะสมเป็นส่วนสำคัญ

นอกจากการแข่งขันเรื่องสิทธิพิเศษของผู้ให้บริการเครือข่ายแล้ว ทรูสเฟียร์ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบริการ ที่คาบเกี่ยวกับธุรกิจโค-เวิร์กกิ้งสเปซ อีกด้วย

"ทรูไม่ได้มองว่าเป็นการแข่งขันกับธุรกิจใด นอกจากการเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่ต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นและนอกเหนือจากเรื่องกิน-เที่ยว-ช็อปที่เหมือนกัน" ปพนธ์ กล่าว

ความแตกต่างของผู้ใช้งานสิทธิพิเศษคือ ลูกค้าไม่ได้อยากได้ส่วนลดเสมอไป เพราะลูกค้าแบล็กการ์ดถือว่าเป็นผู้มีกำลังจ่าย แต่ต้องการความพิเศษมากขึ้นในการใช้ชีวิตนอกบ้าน โดยบริการทรูสเฟียร์ถือว่าตอบโจทย์ คนรุ่นใหม่ที่ยอมจ่ายเพิ่มเพื่อแลกกับความสะดวกสบายในการเรียนและทำงาน

การที่ทรูฯ  ทุ่มงบกว่า 290 ล้านบาท ภายใน 3 ปีนี้สำหรับการขยายโค-เวิร์กกิ้งสเปซให้ได้ 20 สาขาใน กทม.และหัวเมืองใหญ่เพื่อตอบสนองลูกค้าทรูฯ ทั้งในและต่างประเทศให้ ได้ตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด เพราะมองเห็นโอกาสที่เพิ่มเติมนอกจากการซื้ออุปกรณ์สื่อสาร จ่าย ค่าบริการแล้ว การมานั่งใช้บริการทรูสเฟียร์ก็กลายเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ลูกค้าจะเดินเข้ามาที่สาขาต่างๆ ของทรู

การแข่งขันด้านงานบริการจะ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันกันดึงลูกค้า ไว้กับตัวได้มากแค่ไหน ต้องมาพิสูจน์กัน เพราะไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปตามใจฉันอย่างรวดเร็ว เหลือเกิน