posttoday

"Nasket"รวมทุกสินค้า-บริการ ไว้ในห้อง

20 สิงหาคม 2560

"Nasket" เป็นทั้งเครื่องที่สามารถใช้ในการสั่งสินค้าได้ สามารถสแกนบาร์โค้ด และบริการดูแลทำความสะอาดบ้าน

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

“Nasket” เป็นทั้งเครื่องที่สามารถใช้ในการสั่งสินค้าได้ สามารถสแกนบาร์โค้ด และบริการดูแลทำความสะอาดบ้าน (โฮมเซอร์วิส) ไว้พร้อมกัน รวมถึงมีบริการเสริมอีกมากมายที่คิดค้นโดยทีมคนไทย และเป็นครั้งแรกในโลกที่มีระบบบริการแบบนี้ ซึ่งนาสเกตได้ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชีวิตคนเมืองในปัจจุบัน

ผรินทร์ สงฆ์ประชา ซีอีโอ และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Nasket บริษัท นาสเกต รีเทล เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดตัว Nasket ออกมาสู่ตลาดอย่างเป็นทางการในปี 2560 โดยเป็นเครื่องที่ลูกค้าสามารถสแกนบาร์โค้ดสินค้าที่ต้องการได้ในห้อง โดยจะเหมือนสินค้าที่มีขายในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือในห้าง ซึ่งสินค้าที่สแกนจะมาส่งที่ห้อง และสามารถเลือกจ่ายด้วยเงินสด หรือบัตรเครดิตได้เช่นกัน

พร้อมกันนี้ ยังมีบริการภายในเครื่อง ทั้งบริการดูแลทำความสะอาดบ้าน (โฮมเซอร์วิส) ทั้งบริการเรียกแม่บ้านทำความสะอาด บริการสั่งอาหารได้โดยร่วมมือกับแบรนด์ดังหลายราย รวมถึงชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านการสแกนบิลชำระเงินได้ หรือบริการเรียกช่างในด้านต่างๆ ได้เช่นกัน อีกทั้งเมื่อมีคนมาหาที่คอนโด กล่องข้างล่างที่เชื่อมต่อกับนาสเกตจะบันทึกภาพคนที่มาหา และส่งภาพ เอ็มเอ็มเอส (MMS) ไปให้เจ้าของทางโทรศัพท์มือถือในทันที ถือเป็นเครื่องที่มีบริการที่ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า และบริษัทได้พัฒนาเป็นรายแรกในโลก

 

"Nasket"รวมทุกสินค้า-บริการ ไว้ในห้อง ผรินทร์ สงฆ์ประชา ซีอีโอ และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Nasket

ขณะเดียวกัน บริการดังกล่าวจะให้ผู้ใช้งานเลือกสแกนเพื่อสั่งซื้อสินค้าในช่วงเช้า และในเวลา 19.00 น. ของทุกวัน จะมีสินค้ามาส่งที่ห้อง ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวก โดยกลุ่มเป้าหมายที่เน้นจะเป็นกลุ่มที่อาศัยในคอนโดมิเนียม และเน้นเป็นพื้นที่มีคอนโดมิเนียมจำนวน 300 ยูนิตขึ้นไป อีกทั้งส่งผลดีต่อลูกค้าและไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปเลือกซื้อสินค้า หรือต้องไปต่อเข้าแถวคิว

“ผรินทร์” กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ “นาสเกต” เกิดขึ้นมาจากการที่เราเห็นว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตรวดเร็ว แต่มีตลาดที่เล็ก จึงสนใจดึงตลาดกลุ่มลูกค้าที่นิยมซื้อสินค้าออฟไลน์มาสู่ตลาดออนไลน์ให้ได้ ประกอบกับที่ผ่านมา ตนเองมีประสบการณ์การทำงานเป็น หัวหน้าฝ่ายอี-คอมเมิร์ซของ บริษัท เซเว่นอีเลฟเว่น ได้ร่วมพัฒนาระบบอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งได้ทำงานในบริษัทดังกล่าวเป็นเวลาร่วม 10 ปี อีกทั้งจากข้อมูลลูกค้าในประเทศไทยมีการใช้จ่ายผ่านออนไลน์ประมาณ 1% เท่านั้น ส่วนในภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ 2% เชื่อมั่นว่า ตลาดมีโอกาสจะเติบโตอีกมาก

“ผมเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทย และเป็นผู้ที่ได้เริ่มพัฒนาระบบออนไลน์ ทู ออฟไลน์ ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บและมารับสินค้าที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้เลย ทำให้ยอดขายผ่านระบบเติบโตมากขึ้น และมีผลให้ตลาดในภูมิภาคอาเซียนสนใจในระบบนี้อย่างมาก” ผรินทร์ กล่าว

สำหรับ นาสเกต ได้ออกแบบทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก โดยเครื่องสามารถเปิดให้บริการเมื่อมีการเสียบปลั๊กไฟเท่านั้น และไม่ต้องมีขั้นตอนลงทะเบียน ต่อมาคือ การเลือกนำเสนอกิจกรรมและบริการที่ลูกค้าเลือกใช้ประจำ อีกทั้งได้ออกแบบให้สามารถติดตั้งไว้ในคอนโดมิเนียม หรือในพื้นที่ที่ต้องการ ส่วนน้ำหนักเครื่องเบาอย่างมาก

ทีมก่อตั้งรวมประมาณ 8 คน และใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 2 ปี ใช้งบลงทุนพัฒนาต่อเนื่องจำนวนหลายล้านบาท โดยได้พัฒนาตั้งแต่รุ่นแรกของเครื่องมาจนถึงรุ่น 9 ในปัจจุบันแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีการพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์ ทดสอบระบบและสำรวจพฤติกรรมของลูกค้าอย่างใกล้ชิด มีการทดสอบการใช้งาน เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างคล่องตัวและน่าใช้

“ในช่วงแรกๆ ที่พัฒนาคนอาจจะไม่รู้จัก ไม่ได้ลองใช้ แต่เรามีความมุ่งมั่นในการทำ เราค้นพบว่า เมื่อได้ทำแล้วมีความสนุกทุกครั้งจนถึงปัจจุบัน เราได้เห็นโอกาสเรื่อยๆ และมีโอกาสใหม่อย่างไม่หยุด และเมื่อผู้ใช้งานมีความเข้าใจกับเครื่องบริการ จึงเกิดความชอบสินค้า” ผรินทร์ กล่าว

 

"Nasket"รวมทุกสินค้า-บริการ ไว้ในห้อง

ทั้งนี้ Nasket ได้เริ่มเปิดตัวครั้งแรก ในงานคอมพิวเท็กซ์ ของประเทศไต้หวัน ที่บริษัทได้ไปร่วมงาน เนื่องจากได้เข้าร่วมโครงการของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในชื่อ สตาร์ทอัพเวาเชอร์ (Startup Voucher) ซึ่งลูกค้าในไต้หวันให้การตอบรับในระดับที่ดี ต่อมาได้ร่วมงาน สตาร์ทอัพไทยแลนด์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมีพันธมิตรจากประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้สนใจและติดต่อมาแล้ว

"คำแนะนำเบื้องต้นในการบริหารสตาร์ทอัพให้สามารถอยู่ได้ในตลาดได้นั้น จะต้องนำปัญหาที่มีอยู่ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นมาแก้ไขด้วยเทคโนโลยี เพราะบริษัทเห็นปัญหาของลูกค้าที่อาศัยในคอนโดมิเนียมที่ไม่ต้องการหิ้วถุงซื้อสินค้าจำนวนมาก ลูกค้าจะซื้อสินค้าไม่เยอะ แต่จะซื้อถี่มากขึ้น ต่อมาคือ การต้องหารูปแบบของธุรกิจ (โมเดล) ที่เหมาะสมให้ได้ ท้ายสุดคือ การต้องยึดทุกความต้องการของลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาต่อไป"ผรินทร์ กล่าว

เป้าหมายที่ได้วางแผนธุรกิจไว้ ภายใน 3 ปีข้างหน้า จะขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าในคอนโดมิเนียม และเป็นผู้นำในตลาดคอนโดมิเนียมในประเทศไทย ส่วนระยะยาวภายใน 5 ปีข้างหน้า วางเป้าหมายจะเป็นผู้นำในตลาดในต่างประเทศ ซึ่งสนใจขยายตลาดไปหลายประเทศ ทั้งประเทศที่มีประชากรจำนวนมากคือ ในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หรือเมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

“ทุกอย่างที่บริษัทนำเสนอ ผ่านการคิดเพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีสุด หรือซูเปอร์ท็อปส์ ตอบโจทย์ทุกความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ออกแบบให้ใช้งานง่าย หรือทำให้คุณแม่ใช้งานผ่านเครื่องได้อย่างสะดวกเช่นกัน” ผรินทร์ กล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า บริษัทพร้อมพัฒนาและสร้างสรรค์บริการ รวมถึงฮาร์ดแวร์ระบบ เพื่อให้ตรงกับทุกความต้องการของลูกค้าทุกคน