posttoday

‘อรพงศ์ เทียนเงิน’ ทางรอดแบงก์ยุคดิจิทัล

05 สิงหาคม 2560

การเกิดขึ้นของบริการฟินเทคใหม่ๆ มารองรับความต้องการของคนในยุคดิจิทัลได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ลดทอนบทบาทการทำหน้าที่ตัวกลาง

โดย...พรสวรรค์ นันทะ / ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

การเกิดขึ้นของบริการฟินเทคใหม่ๆ มารองรับความต้องการของคนในยุคดิจิทัลได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ลดทอนบทบาทการทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจธนาคารอยู่นิ่งไม่ได้จำเป็นต้องดิ้นหาทางรอด

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เองก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ไม่น้อยสั่งการให้บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ก่อตั้งมาเพื่อเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินในยุดดิจิทัลแสวงหาทางเดินในรูปแบบใหม่ไม่หยุดยั้ง

อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส กล่าวว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานส่วนหนึ่งเพราะโจทย์ของการหารูปแบบธุรกิจใหม่ไม่มีคำจำกัดความและยังไม่มีความชัดเจน เพราะเรายังไม่รู้ว่าธุรกิจธนาคารกำลังจะถูกทลายล้าง หรือดิสรัปชั่น (Disruption) จากอะไร โจทย์จึงมีความน่าสนใจและท้าทาย

แต่ก็พอเห็นว่าสิ่งที่จะมาดิสรัปชั่นธนาคาร คือ

1) เทคโนโลยี เราต้องหาว่าเทคโนโลยีอะไรจะมีศักยภาพมาดิสรัปชั่นได้บ้าง

2) เรามีหน้าที่ต้องทดลองให้ชัดเจนว่ารูปแบบเทคโนโลยีนั้นๆ มีรูปแบบทางด้านธุรกิจอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เห็นว่ามันดิสรัปชั่นธนาคารอย่างไร และ

3) ต้องมีคำตอบให้ได้ว่าธนาคารต้องปรับตัวไปอย่างไร

ดูจากภาคธุรกิจต่างๆ พอเห็นแล้วว่ามันดิสรัปชั่นอย่างไรบ้าง อาทิ เทเลคอม ที่รายได้ลดลงในช่วงเทศกาลเพราะคนเลิกส่งเอสเอ็มเอสหลังเกิดแอพพลิเคชั่นไลน์ หรือธุรกิจค้าปลีก (รีเทล) ที่ห้างเมซีส์ของสหรัฐปิดสาขาไปกว่า 30 แห่ง เพราะคนหันไปช็อปปิ้งออนไลน์แทน หรือธุรกิจสื่อ ที่เดิมคนมองว่าสิ่งสำคัญคือ เนื้อหาแค่มาลงในอินเทอร์เน็ตคนก็น่าจะเข้ามาใช้และขายโฆษณาได้

แต่ปรากฏว่าระหว่างทางมีโพรไวเดอร์ (Provider) อย่าง โซเซียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิล แอพพลิเคชั่นไลน์ มาขายโฆษณาได้ก่อน กระทั่งธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวที่มีตัวแทนการจองผ่านออนไลน์ ที่เป็นรูปแบบธุรกิจใหม่มาร่วมแชร์มาร์จิ้น คนลงทุนสูงสร้างโรงแรมกลับเหลือมาร์จิ้นนิดเดียว เป็นต้น

“ทุกธุรกิจกำลังเดินต่อแถวเข้าพายุทะเลทราย ที่ยังมองไม่เห็นว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งธุรกิจแบงก์เราเองก็กำลังต่อแถว เพราะเห็นอยู่แล้วว่ามันกำลังจะเกิด มีเทคโนโลยีหลายอย่างมากที่จะทำให้เกิด เช่น บล็อกเชน ที่มีระบบความปลอดภัยสูง ทำให้บัญชีเงินฝากที่เคยอยู่กับธนาคารอาจไม่จำเป็นต้องอยู่กับธนาคารก็ได้ แค่รู้ว่ามีเงินเท่าไร ก็ใช้ได้ แถมยังปล่อยกู้ได้หากมีคนต้องการกู้จากเรา คือ ธุรกิจการให้กู้ระหว่างบุคคล (Peer-to-peer lending) ซึ่งไม่ต้องผ่านธนาคารเลย” อรพงศ์ กล่าว

ทั้งหมดที่พูดถึงในแต่ละจุดที่เกิดขึ้นมีโซลูชั่นแล้วทั้งนั้นรอแค่ประกอบร่าง แค่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาต ฉะนั้น ระหว่างที่รอต่อแถวจะเข้าพายุทะเลทราย เราจึงมีเวลาเตรียมตัวค้นหารูปแบบธุรกิจธนาคารแบบใหม่ เดิมภาคธุรกิจอยากทำอะไรแค่หาเทคโนโลยีมาสนับสนุน แต่ขณะนี้เทคโนโลยีคือธุรกิจ ผมมาจากสายงานนอกธุรกิจแบงก์จึงมีข้อดีในการคิดใหม่ ไม่ยึดติดกรอบการทำงานแบงก์ ซึ่งขณะนี้ข้อจำกัดการเกิดธุรกิจใหม่ก็แทบไม่มีแล้ว

หลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอยู่บนสมาร์ทโฟน และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปมากหลังมีคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ทำให้ข้อจำกัดการทำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) หรือการทำข้อมูลบิ๊กดาต้าพัฒนาเร็วขึ้น เกิดธุรกิจใหม่ อย่างอูเบอร์แล้ว ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ธนาคารเข้าใจได้ชัดขึ้นว่าไม่จำเป็นต้องนำแค่เทคโนโลยีใหม่มาใช้กับธุรกิจธนาคารเท่านั้น แต่มันสามารถเกิดธุรกิจในรูปแบบใหม่ได้ ทำให้ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาเราเดินทางไปใน 23 ประเทศทั่วโลกเพื่อมองหาธุรกิจรูปแบบใหม่ที่จะมาดิสรัปชั่นธนาคาร

“ขณะนี้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น (Application Developer) น่าจะเป็นคนที่ทำเงิน เพราะเป็นคนที่ตามพฤติกรรมลูกค้าตลอด ส่วนโพรไวเดอร์ เช่น คนทำสื่อ คนมีห้องให้เช่ากลายเป็นปลายทางสำคัญน้อยลง เพราะไม่ได้ถือความสัมพันธ์กับลูกค้า แบงก์ก็พยายามหาทางไม่ให้ตัวเองเป็นตัวเลือกสุดท้ายของบริการ ทำให้เราต้องมาระดมความคิดเพื่อกระจายบริการของแบงก์เราให้ลูกค้าพึ่งเราตั้งแต่ต้น ซึ่งภายในปีนี้จะออกผลิตภัณฑ์อีกหลายตัวที่อยู่ระหว่างทดลอง” อรพงศ์ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ ดิจิทัล เวนเจอร์ส กำลังหารูปแบบการปรับบทบาทของธนาคารพาณิชย์ที่เปลี่ยนไปทางใดใน 6 ธีมหลัก ที่จะถูกดิสรัปจากเทคโนโลยี ซึ่ง 6 ธีม ได้แก่ ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม และภาคบริการ ซึ่งคิดเป็น 72-74% ของอัตราการเติบโต (จีดีพี) ส่วนงบประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใช้ไปแล้ว 30 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนเป็นฟันด์ออฟฟันด์ และบางส่วนก็ลงทุนโดยตรง รวมถึงการทำศูนย์บ่มเพาะ (Accelerator) เพื่อมาต่อยอดธุรกิจใหม่ในอนาคต