posttoday

'ทีโอที'รับช่วงคุมเบอร์บ้าน

05 สิงหาคม 2560

ทีโอทีเตรียมพร้อมบริหารโทรศัพท์บ้าน หลังทรูหมดสัมปทาน 25 ปี วางเป้าเปลี่ยนชุมสายโครงข่ายสู่ไอพีโฟนปี 2568

ทีโอทีเตรียมพร้อมบริหารโทรศัพท์บ้าน หลังทรูหมดสัมปทาน 25 ปี  วางเป้าเปลี่ยนชุมสายโครงข่ายสู่ไอพีโฟนปี 2568

นายอนุรุต  อุทัยรัตน์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์  บริษัท ทีโอที เปิดเผยว่า ทีโอทีเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการลูกค้าหลังสิ้นสุดสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ในเขตนครหลวง ร่วมกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำนวน 25 ปี โดยจะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 ต.ค. 2560

ทั้งนี้ มีเลขหมายรองรับการให้บริการภายใต้สัมปทาน 2.6 ล้านเลขหมาย แต่มีผู้ใช้งานจริง 9 แสนเลขหมาย โดยเป็นกลุ่มลูกค้าองค์กร 20% และกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป 80% มีรายได้รวมภายใต้สัมปทานดังกล่าวมีมูลค่า 2.39 แสนล้านบาท แบ่งเป็น รายได้ของส่วนทีโอที 4.1 หมื่นล้านบาท และรายได้ส่วนของ ทรู คอร์ปอเรชั่น 1.98 แสนล้านบาท ซึ่งสัมปทานดังกล่าวเป็นสัญญาร่วมในรูปแบบบีโอที (BOT) โดยทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ลงทุนด้านอุปกรณ์ ระบบ ที่ดิน และอาคาร และจะโอนถ่ายทรัพย์สินนั้นให้กับทีโอทีเมื่อสิ้นสุดสัญญา ดังนั้นการให้บริการจะดำเนินต่อไปไม่กระทบต่อผู้ใช้งานอย่างแน่นอน

สำหรับทีโอทีจะเริ่มให้บริการต่อตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2560 โดยปัจจุบันทีโอทีได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับการให้บริการลูกค้าทั้งระบบชุมสาย ระบบการกำลัง ระบบบริหารจัดการ และการประสานงานกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการไฟฟ้า และเจ้าของที่ตั้งชุมชนเพื่อการดำเนินการต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังเตรียมข้อมูลที่จำเป็นต่อการใช้บริการของลูกค้า เช่น เงื่อนไขการใช้บริการ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้บริการแต่ละด้าน รวมไปถึงการทดสอบระบบที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการของลูกค้า หรือจัดทำข้อมูลเข้าระบบทุกระบบและทดสอบการใช้งานเสมือนจริง

"ช่วงเปลี่ยนผ่านการให้บริการ มั่นใจว่าจะไม่ทำให้ผู้ใช้ได้รับผลกระทบเนื่องจากโครงข่ายบริการของทรูและทีโอทีซ้ำซ้อนกันกว่า 80% ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนทยอยส่งมอบทรัพย์สิน โดยทีโอทีต้องมีการตรวจนับจำนวน ตรวจคุณภาพ และสภาพความพร้อมในการใช้งานของอุปกรณ์อย่างรอบคอบ  ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาหลังจากนี้ไม่เกิน 6 เดือน" นายอนุรุต กล่าว

ปัจจุบันทีโอทีมีผู้ใช้บริการรวม 3.55 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น กลุ่มลูกค้าจากทรู คอร์ปอเรชั่น 9 แสนราย กลุ่มลูกค้าจากบริษัท ทีทีแอนด์ที จำนวน 3.5 แสนราย และจากกลุ่มลูกค้าอื่นๆ ของทีโอทีอีก 2.3 ล้านราย

การลงทุนในอนาคตจะเปลี่ยนชุมสายโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน (PSTN) เดิมของเลขหมายเหล่านี้สู่บริการไอพีโฟน (Internet Protocal Phone) ซึ่งบริษัทจะทยอยเปลี่ยนสายทองแดง หรือ เอดีเอสแอล (ADSL) ของบรอดแบนด์มาเป็นสายสายใยแก้วนำแสง หรือ ไฟเบอร์ออปติกทั้งหมด

ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2561-2564 ให้แล้วเสร็จ ก่อนที่สายทองแดงจะเสื่อมสภาพในปี 2568 อีกทั้ง มองว่าธุรกิจบรอดแบนด์และฟิกซ์ไลน์ยังคงเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้ค่อนข้างดีอยู่ที่ 60% ของรายได้รวม จึงยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจในอนาคต

ด้าน นางณัฏฐ์ณัชชา ไชยประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกฎหมาย บริษัท ทีโอที  กล่าวว่า ทีโอทีได้จัดทำแผนการให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เสนอแก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ หรือทำสัญญาทางกฎหมายใหม่

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภายใต้สัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ในเขตนครหลวง ร่วมกับ ทรู คอร์ปอเรชั่น มีการฟ้องร้องคดีเกิดขึ้นจำนวน 14  คดี โดยเป็นการฟ้องร้องจากฝั่งทีโอที จำนวน 10 คดี มูลค่าความเสียหาย 2.3 หมื่นล้านบาท และเป็นการฟ้องจากฝั่ง ทรู คอร์ปอเรชั่น 4 คดี มูลค่าความเสียหาย 1 หมื่นล้านบาทเศษ โดยคดีทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ