posttoday

ดีแทคหวั่น2300สะดุด

25 กรกฎาคม 2560

ดีแทค เปิดแผนคลื่น 2300 ลุ้นอาจมีกลุ่มอื่นมาป่วนเพิ่ม เผยไตรมาส 4 ให้บริการเน็ตแบบใหม่ ผวา กสทช.ครบวาระกระทบประมูลคลื่นปีหน้า

ดีแทค เปิดแผนคลื่น 2300 ลุ้นอาจมีกลุ่มอื่นมาป่วนเพิ่ม เผยไตรมาส 4 ให้บริการเน็ตแบบใหม่ ผวา กสทช.ครบวาระกระทบประมูลคลื่นปีหน้า

นายภารไดย ธีระธาดา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร และนายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ร่วมกันเปิดเผยว่า สถานการณ์โดยรวมหลังจากดีแทคได้รับเลือกให้เป็นคู่ค้า จากบริษัท ทีโอที ในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ มาให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งบริษัท ทานตะวัน เทเลคอมมูนิเคชั่น ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอทราบวิธีการและแนวทางในการคัดเลือกคู่ค้า อยู่ในภาวะค่อนข้างนิ่งกันทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่เงียบมากผิดสังเกต ทำให้บริษัทต้องติดตามอาจมีปัจจัยนอกเหนือการควบคุมที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเบื้องต้นบริษัทยังเชื่อจะเซ็นสัญญากับทีโอทีได้ตามกำหนดไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนเหตุผลที่บริษัท ทานตะวันฯ ไม่ได้รับเลือก ตามที่ทีโอทีบอกคือไม่มีประสบการณ์ ด้านโทรคมนาคม และในสัญญาใช้งานโครงข่าย 8 ปีคลื่น 2300 เมก เลือก ผู้ที่มีลูกค้าในมือมาใช้บริการโครงข่ายอยู่แล้วจะเกิดประสิทธิภาพมากกว่า ดังนั้น คณะกรรมการทีโอทีจึงเลือกดีแทค

ทั้งนี้ การให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ เป็นครั้งแรกในไทย ที่นำเทคโนโลยีการสื่อสาร 4G LTE-TDD มาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และฟิกซ์ บรอดแบนด์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม การดาวน์โหลดได้ที่ความเร็ว 300 เมกะเฮิรตซ์ และสามารถเพิ่มความเร็วขึ้นได้อีก โดยบริษัทวางแผนเปิดบริการให้ลูกค้าสามารถ เลือกความเร็วอินเทอร์เน็ตในช่วงเวลา ที่ต้องการเอง

"นอกจากนี้ บริษัทกังวลเรื่องครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ 6 ปี (ต.ค. 2560) ของกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ที่ตามกฎต้องสรรหาใน 180 วัน อาจมีโอกาสทำให้การประมูลคลื่น จะล่าช้ากว่ากำหนดซึ่งเดือน เม.ย. 2561 จะประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมก และคลื่น 850 เมก"

สำหรับการประมูลคลื่น 1800 เมก กับคลื่น 850 เมก ของดีแทคที่จะหมดสัมปทานในปีหน้า บริษัทไม่กังวลมาก เพราะการได้คลื่น 2300 เมก ของทีโอทีมา 60% ของโครงข่าย เป็นหลักประกันให้ดีแทคไปถึง 7 ปี ส่วนทิศทางการแข่งขันโอเปอเรเตอร์ยังคงรุนแรงระหว่างอันดับสองกับสาม จากไตรมาสแรกดีแทค มีผู้ใช้งาน 24.48 ล้านราย ทรู 24.53 ล้านราย และเอไอเอส 40 ล้านราย