posttoday

ข้อเสนอการถ่ายทอดเทคโนโลยี โครงการรถไฟฟ้าไทย-จีน

16 กรกฎาคม 2560

หลังคำสั่ง คสช.ที่ 30/2560 กรณีโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา

โดย...ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังคำสั่ง คสช.ที่ 30/2560 กรณีโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา บรรดาองค์กรต่างๆ ก็เริ่มออกมาเสนอตัวเป็นผู้นำกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี อาทิ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

รวมทั้งล่าสุด ก็มีข่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นหน่วยงานหลักประสานงานกับกระทรวงคมนาคมทำหน้าที่รับและถ่ายทอดเทคโนโลยี เรียกได้ว่า “การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูง” กำลังเป็นกระแสที่มาแรง

แม้จะมีองค์กรที่ประสงค์จะอาสาเข้ามาเป็นผู้นำกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทว่าส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีความเข้าใจในประเด็นพื้นฐานและวิสัยทัศน์ของกระบวนการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งควรจะต้องผูกโยงกรณีรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ให้เข้ากับกรณีโครงการรถไฟประเภทอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน หรือโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ

เวทีที่ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปรับฟังหรือได้อ่านผลการประชุมยังคงวนเวียนคุยกันอยู่ในประเด็นเฉพาะหน้าเรื่องการดำเนินโครงการ มูลค่าการก่อสร้าง งานโยธา บางเวทีพูดกันไปถึงว่าปริมาณความต้องการใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูงมีน้อย ไม่คุ้มค่าที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตหรือประกอบในประเทศไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยีจึงมุ่งเน้นเฉพาะเทคนิคการก่อสร้าง เป็นต้น

ควรทราบว่า ในระหว่างที่ ม.44 กำลังทำให้โครงการไทย-จีน เดินหน้าไป ผลลัพธ์ที่ตามมาก็กำลังจะมีการจัดตั้ง “สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง” ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อดำเนินงานพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาบุคลากรทั้งระดับวิศวกรและช่างเทคนิคสำหรับรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางต่อไป

รวมทั้งกำลังจะมีการจัดตั้ง “องค์กรพิเศษที่เป็นอิสระจากการกำกับกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย” (เรียกกันว่า SPV หรือ Special Purpose Vehicle) เพื่อกำกับการดำเนินงานโครงการให้มีประสิทธิภาพ โดยให้มีโครงสร้างองค์กรที่มีความคล่องตัวและเหมาะสมสำหรับดำเนินกิจการระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง

ผู้เขียนยอมรับว่า หากคิดกันผ่านๆ ลำพังปริมาณความต้องการใช้ขบวนรถไฟฟ้าความเร็วสูงในระยะแรก (6 ขบวน ขบวนละ 8 ตู้ รวม 48 ตู้ จะใช้สำหรับการให้บริการในปี 2564) คงจะไม่มากพอที่จะส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตได้ และคงจะไม่มีเอกชนรายใดกล้าลงทุนทำโรงงานเพื่อการผลิตหรือแม้แต่การประกอบให้

แต่หากนี่คือโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการยกระดับขีดความสามารถในการผลิตของประเทศไทยในระยะยาว การพูดคุยกันในเรื่องกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน จึงไม่ควรวนเวียนกันอยู่แต่ในประเด็นงานวิศวกรรมโยธา การก่อสร้าง การพัฒนาโครงการ

หากแต่ต้องพิจารณาบริบทแวดล้อมและละลายภาพ “รถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน” ไปสู่เป้าหมายการใช้กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการไทย-จีน ต่อยอดไปสู่โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในส่วนอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

(ควรทราบว่า หากโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศที่กำลังดำเนินการประสบความสำเร็จ เราจะมีความต้องการใช้หัวรถจักรประเภทต่างๆ ตู้โดยสาร ตู้สินค้า ฯลฯ อีกนับเป็นจำนวนหลักพันตู้ ยังไม่นับรวมกรณีหาก รฟท.ต้องการยกระดับการให้บริการด้วยการพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้า หรือการทำ Electrification ก็เป็นโอกาสใหญ่ที่ประเทศไทยจะใช้เป็นต้นทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ ตลอดจนความต้องการจากการใช้งาน EMU จากโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แน่นอนว่าก็ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาโครงข่ายใหม่ๆ ตามเมืองใหญ่อื่นๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ด้วย)

ผู้เขียนตลอดจนนักวิชาการ นักวิชาชีพจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสได้ระดมสมองกัน มีข้อเสนอต่อรัฐบาล 2 ประการ

1.ให้ริเริ่มการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางแบบองค์รวม ให้สอดคล้องกับการทำงานขององค์กรระบบรางเดิม (รฟท. รฟม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) และองค์กรที่จะเกิดขึ้นใหม่ (HSR-SPV และสถาบันระบบราง) โดยบูรณาการความต้องการใช้งานระบบรางประเภทต่างๆ ทั่วประเทศไทย

และขอเสนอให้อาศัยจังหวะนี้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมระบบรางในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเป็นพื้นที่ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และให้สิทธิเอกชนเข้าไปใช้แบบเฉพาะกิจ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีภาคการผลิต เช่น กำหนดเงื่อนไขให้ต้องประกอบรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน หรือแม้แต่ไทย-ญี่ปุ่น โครงการจัดหาหัวรถจักร หรือ EMU อื่นๆ ภายในพื้นที่ดังกล่าวนี้

2.เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางเป็นงานพหุศาสตร์ ต้องการความร่วมมือหลากหลายข้ามกระทรวง ในระยะสั้น ขอเสนอให้ “สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง” เป็นสถาบันภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถประสานการทำงานระหว่างกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ การทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยมีภารกิจหลัก 5 ประการ คือ

(ก) งานบริหารการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนา (Management of Technology Transfer and R&D)

(ข) งานระบบมาตรฐานระบบรางไทย (Thai Railway Standard)

(ค) งานพัฒนาการผลิต (Rail Industry Development)

(ง) งานทดสอบและห้องปฏิบัติการ (Testing and Laboratory)

(จ) งานพัฒนาบุคลากร (HRD, Human Resources Development)

รายละเอียดอื่นๆ เราจะคุยกันในโอกาสต่อไปครับ