posttoday

เทคโนโลยีผู้สูงวัย โอกาสทองธุรกิจ

14 กรกฎาคม 2560

หากเทรนด์ผู้สูงวัยเป็นที่ตระหนักของภาคเอกชนมากขึ้น ก็น่าจะมีสีสันทางเทคโนโลยีที่น่าสนใจออกมาก

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

จากอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุของปี 2553 ที่มีอยู่ 8.4 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 12.6 ล้านคน ในปี 2563 นั้น เรียกได้ว่าเป็นจังหวะของการปรับเปลี่ยนทางธุรกิจอีกครั้ง หากภาคธุรกิจไม่เตรียมพร้อมรับมือ ย่อมกลายเป็นเสียโอกาสทางรายได้และคนกลุ่มนี้ต่างจากในปัจจุบันคือมีความพร้อมด้านการรับมือเทคโนโลยีได้ดีกว่าเดิม

วันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากตัวเลขประชากรไทยที่มีกว่า 65 ล้านคนในปัจจุบัน แบ่งเป็นกลุ่มผู้สูงวัยแล้วกว่า 17% หรือประมาณ 10-11 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นตัวแปรสำคัญด้านเศรษฐกิจชาติและมีแนวโน้มที่จะมีการใช้จ่ายมากเป็นอันดับต้นๆ

ปัญหาการจ้างงานของวัยทำงานที่ลดลง ในอีก 26 ปีข้างหน้าที่ประชากรวัยทำงานลดลง 11.2% ทำให้แนวโน้มการจ้างงานจะยืดอายุของผู้สูงวัยที่ยังแข็งแรงออกไป โดยอาจจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้ยังสามารถทำงานต่อไปได้และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลคนกลุ่มนี้

ทั้งนี้ กรอบการปฏิรูปที่ภาครัฐวางรากฐานไว้คือ ส่งเสริมการจ้างงาน เพราะผู้สูงวัยจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ โดยการทำงานนอกจากจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมแล้ว ยังมีการจัดจ้างให้ทำงานแบบออนไลน์ พาร์ตไทม์ เพื่อช่วยให้สะดวกในการลดการใช้แรงงาน พัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองความต้องการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ผู้ประกอบการที่จ้างผู้สูงวัย รวมทั้งมีการทำงานแบบโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์มากขึ้น

ทางด้านการใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้สูงวัยในขณะนี้ เริ่มต้นจากการใช้งานเพื่อสื่อสารอย่างไลน์ เฟซบุ๊ก เพื่อหาข้อมูล แต่ยังเป็นที่น่ากังวลว่า ด้วยข้อมูลที่ไหลไปอย่างรวดเร็ว ผู้สูงวัยยังไม่สามารถรับมือกับการหลั่งไหลข้อมูลที่รวดเร็วได้ดีนัก และยังหลงเชื่อได้ง่าย การมีหน่วยงานส่วนกลางเข้ามาควบคุมจะช่วยเรื่องการดูแลเป็นอย่างดี

ชาติชาย อติชาติ ผู้จัดการเว็บไซต์อาวุโสดอทคอม กล่าวว่า การหาข้อมูลด้านสุขภาพ ฝึกสมองและข่าวสารสำหรับผู้สูงวัยโดยตรงยังมีน้อยทั้งที่คนกลุ่มนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในเว็บไซต์มีผู้ใช้งานระดับอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปที่ต้องการหาข้อมูลสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคต

“หลังจากเปิดให้บริการมาเพียง 3 เดือน มีการใช้งานกว่า 5,000 คน/เดือน และติดอันดับการค้นหาเพื่อเข้าใช้งานเป็นอันดับ 8 ของเว็บไซต์ truehit เชื่อว่าในอนาคตจะมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น” ชาติชาย กล่าว

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นสำหรับกลุ่มคนสูงวัยในไทยยังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของที่พักอาศัย อุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับเดินทาง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ศูนย์พักผู้ป่วยและศูนย์สุขภาพจากโรงพยาบาลและหน่วยงานเอกชนต่างๆ ทั้งที่กลุ่มคนสูงวัยมีโอกาสที่จะใช้อุปกรณ์ไอโอทีและบิ๊กดาต้ามากกว่ากลุ่มอื่น

ทรงพล องค์วัฒนกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไอโอทีและบิ๊กดาต้าเป็นเทคโนโลยีที่ต้องใช้งานร่วมกัน คนที่ต้องการเข้ามาให้บริการด้านการแพทย์และพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัลเฮลท์แคร์จำเป็นต้องจับสองเทคโนโลยีนี้มาขับเคลื่อนไปด้วยกัน 

ยกตัวอย่างในเรื่องของแวร์เอเบิลและไอโอทีที่มีการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา แต่ข้อมูลด้านสุขภาพกลับไปอยู่กับผู้ให้บริการด้านอุปกรณ์จากต่างประเทศ ซึ่งหากมีการนำข้อมูลส่วนนี้มาใช้ทางการแพทย์ของไทยจะช่วยในการพัฒนาบริการและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป โดยเทคโนโลยีด้านแวร์เอเบิลที่ไทยมีเพียงการใช้คิวอาร์โค้ดเชื่อมต่อกับข้อมูลด้านการติดต่อ เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินในรูปแบบริสแบนด์ของ MIDAT และ ME-D

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีอย่างเอไอที่เริ่มเข้ามามีส่วนในการดูแลสอดส่องผู้สูงวัย ซึ่งเอไอต้องมีข้อมูลเป็นตัวนำทางและนำข้อมูลไปประมวลผลผ่านดาต้าไมนิ่ง เพื่อช่วยให้หุ่นยนต์เอไอมีความฉลาดและเป็นประโยชน์มากขึ้น

แต่ดูเหมือนว่าการใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้สูงวัยของไทยยังอยู่ในยุคเริ่มต้น แม้รัฐจะเริ่มให้การสนับสนุนแต่ภาคเอกชนยังตื่นตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ ดังนั้น หากเทรนด์ผู้สูงวัยเป็นที่ตระหนักของภาคเอกชนมากขึ้น ก็น่าจะมีสีสันทางเทคโนโลยีที่น่าสนใจออกมาก แต่อาจต้องใช้เวลารออีกสัก 2-3 ปี ถึงจะมีความชัดเจนกว่านี้ก็เป็นได้