posttoday

กสทช.ขอเอเจนซี่ระงับโฆษณา หากเฟซบุ๊ก-ยูทูป ไม่ขึ้นทะเบียนโอทีที

28 มิถุนายน 2560

กสทช. ขอความร่วมมือมีเดียเอเจนซี่ระงับโฆษณา หากเฟซบุ๊ก - ยูทูป ไม่มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีที

กสทช. ขอความร่วมมือมีเดียเอเจนซี่ระงับโฆษณา หากเฟซบุ๊ก - ยูทูป ไม่มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีที

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ OTT (Over The Top) กล่าวว่า ในวันนี้ กสทช.ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางการโฆษณาผ่านผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และการเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ Over The Top สำหรับเอเจนซี่โฆษณา โดยกสทช.จะใช้หลักการบรรษัทธรรมาภิบาลที่ต้องประกอบธุรกิจอย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม กสทช.จะใช้กระบวนการทางกฏหมายเป็นวิธีสุดท้าย สิ่งที่กสทช. ทำเพื่อสร้างกระบวนการกำกับดูแลที่เหมาะสมในอนาคต

โดยหากผู้ให้บริการ OTT ทั้ง 2 บริษัท(Facebook, Youtube) ยังไม่มาแจ้งในเวลาที่กำหนดในวันที่ 22 ก.ค. ทางกสทช. จะแจ้งกับตัวผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม สถานฑูต มีเดียเอเจนซี่ สมาคมโฆษณา รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ฯว่าไม่ควรสนับสนุนคนที่ปฏิบัติไม่ชอบตามกฏหมายไม่มีธรรมาภิบาล และเมื่อมีบริษัทใดไม่มีธรรมาภิบาล การสนับสนุนใดๆควรระงับไว้ก่อน

นอกจากนี้ กสทช.ได้แจ้งกับเอเจนซี่โฆษณาถึงข้อกฎหมาย โดยนำพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์  และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาปรับใช้กับการกำกับดูแล OTT โดยมาตรา 27 วรรคหนึ่ง (6) กำหนดว่า การอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม กสทช.มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการกำกับการอนุญาต เงื่อนไข ดังกล่าว มาตรา 66 ผู้ใดประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะปรับวันละไม่เกินห้าหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน มาตรา 83 กรณีความผิดที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคล

อีกทั้ง กสทช.ได้นำรูปแบบการกำกับดูแลโดยอ้างอิงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่เชื่อมโยงฐานการกระทำความผิดระหว่าง ตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน โดยระบุว่า การสนับสนุนผู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำความผิดตามกฎหมาย มีโทษ 2 ใน 3 ตามกฎหมายอาญา

ด้านนายไตรลุจน์ นวะมะรัตน์ นายกสมาคมมีเดียเอเจนซี่ กล่าวว่า แนวทางที่กสทช.ได้ชี้แจงเป็นสิ่งที่มีเดียเอเจนซี่จะปฎิบัติตามโดยจะแจ้งกับเจ้าของลูกค้าถึงกรอบแนวทางของกสทช. ซึ่งหากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทั้ง 2 ราย ไม่มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการกับกสทช. หมายความว่าเอเจนซี่ไม่สามารถลงโฆษณาในแพลตฟอร์มทั้ง 2 ได้  อย่างไรก็ดี เชื่อว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทั้ง 2 รายจะมาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT กับกสทช.ตามกำหนดเวลา

อนึ่ง สำหรับมูลค่าโฆษณาของ Facebook และ Youtube ในประเทศไทย คิดเป็นอัตรา 40% ของมูลค่าโฆษณาบนสื่อออนไลน์ โดยในปี 59 มูลค่าการลงโฆษณาออนไลน์อยู่ที่ 9,700 ล้านบาท โดยสมาคมฯ คาดว่าปีนี้มูลค่าโฆษณาจะอยู่ที่ 22,000 ล้านบาท