posttoday

"อเมซอน" รุกค้าปลีกพลิกเกมธุรกิจโลก

19 มิถุนายน 2560

ถึงจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรม “ค้าปลีก” และ “อี-คอมเมิร์ซ” ที่อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

“อเมซอน อิงค์” ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซเบอร์ 1 ในสหรัฐ ได้ประกาศดีลที่สร้างความตกตะลึงไปทั้งประเทศและทั่วโลกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กับการซื้อกิจการ “โฮลฟู้ดส์” (Whole Foods) ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เน้นอาหารเป็นมิตรต่อสุขภาพ ในราคา 1.37 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.65 แสนล้านบาท)

การขยับตัวของอเมซอนในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเข้ามาเล่นในตลาดค้าปลีกกลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างเต็มตัวเท่านั้น แต่ก็ยังส่งสัญญาณถึงจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรม “ค้าปลีก” และ “อี-คอมเมิร์ซ” ที่อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และเป็นก้าวย่างที่ทั่วโลกต้องจับตามอง

เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาอเมซอนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วถึงบทบาทการเป็น “ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรม” หรือ Disruptor ในสหรัฐมาโดยตลอด โดยพาตัวเองจากร้านขายหนังสือทางออนไลน์ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 1995 ไปสู่อี-คอมเมิร์ซเบอร์ 1 ในสหรัฐ ที่กวาดส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐไปถึง 43%

อเมซอนไม่ได้แค่เปลี่ยนตัวเองจากร้านหนังสือไปสู่ร้านค้าปลีกออนไลน์ขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ความโดดเด่นยังรวมถึงพัฒนาการทางด้าน “เทคโนโลยี” ที่มุ่งสู่การพัฒนาหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และยังถือเป็นหัวแถวของตลาด “คลาวด์ คอมพิวติ้ง” โดยอเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) ที่แซงหน้าอัลฟาเบต (กูเกิล) และไมโครซอฟท์ ขึ้นเป็นเบอร์ 1 และมีส่วนแบ่งการตลาดราว 40% ของตลาดพับลิก คลาวด์ เซอร์วิส ในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา

การที่ยักษ์ออนไลน์และไอทีระดับนี้รุกเข้าสู่ภาคค้าปลีกกลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค (Grocery) ที่มีมูลค่าถึง 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ/ปี (ราว 27.1 ล้านล้านบาท) นอกจากจะถูกจับตามองเรื่องการนำเทคโนโลยีในมือไปเปลี่ยนโฉมธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมที่มีหน้าร้าน (Brick and Mortar) แล้วก็ยังถูกจับตามองว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการ “กินรวบ” อุตสาหกรรมอีกด้วย

แม้ปัจจุบันการค้าทั่วไปจะหันเข้าสู่ยุคออนไลน์มากขึ้นแล้ว ทว่ามีธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกด้านอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคเพียงประมาณ 1-2% เท่านั้นที่มุ่งเข้าตลาดออนไลน์ โดยคาดว่าตัวเลขนี้จะขยับขยายเป็น 6% ภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยได้แรงหนุนของผู้บริโภคในกลุ่มมิลเลนเนียลที่จะหันมาซื้อสินค้าประเภทดังกล่าวทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

ที่ผ่านมา อเมซอนเองก็เคยจับมือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจในกลุ่มดังกล่าวเพื่อขยายไลน์สินค้าให้หลากหลายขึ้นแล้ว โดยมีมานานราว 10 ปีแล้ว ทว่าการซื้อโฮลฟู้ดส์เป็นของตัวเองในครั้งนี้ บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าอเมซอนต้องการเดินหน้าธุรกิจนี้อย่างจริงจัง จึงหันมาซื้อโฮลฟู้ดส์ที่มีทั้งหน้าร้านและโกดังเก็บของสด ซึ่งเป็นจุดอ่อนเดิมของบริษัท เพราะโกดังเดิมของอเมซอนนั้นไม่ได้รองรับสินค้าในกลุ่มนี้

"อเมซอน" รุกค้าปลีกพลิกเกมธุรกิจโลก

จอห์น แม็คคีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโฮลฟู้ดส์ เคยกล่าวเอาไว้เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ในยุคที่อเมซอนวิ่งเข้าสู่ธุรกิจนี้ว่า วันใดที่อเมซอนได้ธุรกิจนี้ไป จะเป็นเหมือนวันแห่งการประกาศชัยชนะในสมรภูมิรบ หรือเป็นเหมือน Waterloo ของอเมซอน

เป็นที่คาดว่าอเมซอนจะใช้ทรัพยากรในมือ โดยเฉพาะระบบอี-คอมเมิร์ซและคลาวด์ คอมพิวติ้ง เข้ามาปรับโฉมการค้าปลีกแบบ Grocery ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นแบบพึ่งพาหน้าร้านอยู่ ให้กลายเป็นการค้าแบบใหม่ทางออนไลน์มากขึ้น

หรือขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นการปรับโฉมหน้าร้านให้มีความทันสมัยรับยุคใหม่ คล้ายกับที่อเมซอนเพิ่งออกโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตอัจฉริยะนำร่องไปในเมืองซีแอตเทิล ที่ใช้เทคโนโลยีประมวลผลการหยิบจับของออกจากชั้นวางได้อย่างแม่นยำ ทำให้ลูกค้าที่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมาใช้ไม่จำเป็นต้องนำของไปจ่ายเงิน แต่สามารถหยิบของแล้วออกนอกร้านได้เลย โดยจะมีการตัดเงินในบัญชีโดยอัตโนมัติพร้อมส่งใบเสร็จมาให้เอง

ซาคารี ฟาเดม นักวิเคราะห์จากธนาคารเวลส์ ฟาร์โก ให้มุมมอง กับบลูมเบิร์กถึงดีลในครั้งนี้ว่า อเมซอนจะเป็นผู้พลิกเกมในอุตสาหกรรมนี้ และยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้เล่นรายอื่นๆ ในกลุ่มค้าปลีกอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคว่าการแข่งขันกำลังจะดุเดือดเข้มข้นขึ้น

ที่ผ่านมา ห้างค้าปลีกในกลุ่ม Grocery หลายรายต้องเร่งปรับตัวอย่างหนักในโลกออนไลน์ ให้ทันกับกลุ่มอี-คอมเมิร์ซที่เข้ามาเจาะตลาดของตนเองกันมากขึ้น นำโดยวอลมาร์ทที่ทุ่มเม็ดเงินลงทุนเฉพาะปีที่แล้วไปถึง 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.12 แสนล้านบาท) เพื่อมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ใน Jet.com โดยขยายร้านค้าออนไลน์ไปมากกว่า 600 แห่ง จากร้านค้าจริงของวอลมาร์ทที่มีอยู่ราว 4,700 สาขาทั่วประเทศ และทำให้มียอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 63% ในปีที่แล้ว

ขณะที่ห้างค้าปลีกรายอื่นๆ ก็กำลังมุ่งเบนเข็มเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้นให้ทันเกมเช่นกัน ก่อนที่จะช้าไปจนไม่สามารถแข่งขันได้ เช่นเดียวกับร้านค้าปลีกอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในกลุ่ม Grocery หรือประเภทอื่นๆ ที่ปรับตัวตามไม่เร็วพอจนตกขบวนไปตามๆ กัน เช่น ห้างเจซีเพนนี และเมซีส์ ที่ทยอยปิดสาขาจำนวนมากไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่ร้านค้าปลีกแบบมีหน้าร้านอีกมากก็ทยอยประกาศล้มละลายอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีมานี้

หากปรับตัวตามไม่ทัน แม้จะใหญ่แค่ไหนก็มีสิทธิล้มได้เสมอ ในยุคของคลื่นการค้ายุคใหม่วันนี้