posttoday

สร้างครีเอเตอร์ เพิ่มโอกาสคนรุ่นใหม่

03 มิถุนายน 2560

พฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ผ่านมือถือของคนรุ่นใหม่ ทำให้การเติบโตของคอนเทนต์บนยูทูบหรือแอพพลิเคชั่นไลฟ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

พฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ผ่านมือถือและแท็บเล็ตของคนรุ่นใหม่ ทำให้การเติบโตของคอนเทนต์บนยูทูบหรือแอพพลิเคชั่นไลฟ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางรายได้ให้แก่คนที่สนใจได้อย่างมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินตลาดผลิตเนื้อหารายการที่แพร่ภาพผ่านทางทีวีออนไลน์โดยเฉพาะ ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 600-615 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5% ของมูลค่าตลาดผลิตรายการโทรทัศน์โดยรวม ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3.9-4 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ตลาดผลิตเนื้อหารายการที่แพร่ภาพผ่านทางทีวีออนไลน์มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยภายใน 5 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่า ตลาดผลิตเนื้อหารายการที่แพร่ภาพผ่านทางทีวีออนไลน์โดยเฉพาะ จะมีมูลค่าสูงถึง 1,880-2,190 ล้านบาท หรือ 3-3.5% ของมูลค่าตลาดผลิตรายการโทรทัศน์โดยรวม ซึ่งเติบโตมากกว่า 3 เท่าจากมูลค่าตลาดในปี 2558

เฟรด ชอง ประธานกรรมการบริหารระดับภูมิภาค บริษัท เว็บทีวีเอเชีย กล่าวว่า การรับชมคอนเทนต์ผ่านยูทูบมีการเติบโตมาก ซึ่งหลังเปิดให้บริการในประเทศไทยมา 3 ปี มีการเติบโตมากกว่า 5 เท่าทุกปีต่อเนื่อง อีกทั้งพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ของคนรุ่นใหม่ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นคนดังเพียงอย่างเดียว ทำให้รายการที่ให้ความบันเทิงและมีเนื้อหาน่าสนใจได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

“แม้ว่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับศิลปินและคนดังยังเป็นรายการหลักที่คนสนใจ แต่คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการแต่งหน้า ท่องเที่ยว เด็กและตลกก็เป็นประเภทคอนเทนต์ที่คนบนโลกออนไลน์ค้นหาและต้องการรับชม” ชอง กล่าว

ขณะที่บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับดูแลศิลปินมาก่อน และมองเห็นโอกาสจากกลุ่มดิจิทัล ซึ่งเริ่มจากมาเลเซียและขยายไปเปิดตลาดในจีนซึ่งมีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากที่สุด ส่วนไทยเป็นประเทศที่สามที่มีการรับชมคอนเทนต์บนยูทูบสูงที่สุดในเอเชีย และขณะนี้มีช่องบนยูทูบแล้วกว่า 1,500 ช่องใน 6 ประเทศ มีผู้รับชมผ่านช่องทางเว็บทีวีเอเชียแล้วกว่า 1,500 ล้านวิว

ปัจจุบันเว็บทีวีเอเชียในประเทศไทย มียอดรับชมแล้วกว่า 300 ล้านวิว มีจำนวนครีเอเตอร์ประมาณ 300 คน ไม่ว่าจะเป็น บี้ เดอะสกา แร็ปอิสนาว คิดส์ทอย อาร์พีจี เป็นต้น และยังคงหาครีเอเตอร์ที่น่าสนใจเข้ามาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ในระบบอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทยังดูแลครีเอเตอร์หากเซ็นสัญญาเป็นเอ็กซ์คลูซีฟ ไม่ว่าจะเป็น หาโฆษณามาลงในรายการ ช่วยคิดและผลิตรายการ รวมทั้งหางานแสดงเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่ง

“หากครีเอเตอร์มีผู้ติดตามหลักแสนซับสไครเบอร์ จะมีผู้จัดการส่วนตัวคอยดูแลเพื่อช่วยเหลือและจัดการคิวงานให้ด้วย แต่บริษัทก็เปิดกว้างเรื่องการแสดงความคิดเห็นต่อรูปแบบรายการเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามารับชมจำนวนมาก” ชอง กล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมองว่ารายการบนยูทูบค่อนข้างที่จะมีเยอะและยากต่อการค้นหา จึงสร้างแอพพลิเคชั่นเลิฟ (LUVE) ขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มในการนำเสนอคอนเทนต์ที่เหมาะกับผู้ใช้งานแต่ละประเทศ โดยเลือกเปิดที่ไทยเป็นประเทศแรก ตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดภายในสิ้นปีนี้ไว้ที่ 1 แสนดาวน์โหลด

ในอนาคตยังหวังจะให้คนซึ่งเป็นที่รู้จักในสื่อดั้งเดิมอย่างทีวี แมกกาซีน และภาพยนตร์มาโด่งดังบนโลกดิจิทัลด้วย เพื่อให้คนเหล่านี้มีโอกาสสร้างชื่อและรายได้ในช่องทางที่ข้ามแพลตฟอร์มกันได้ รวมทั้งมีโอกาสเติบโตในต่างประเทศ

ไมเคิล จิตติวาณิชย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดด้านธุรกิจ ของ Google ประเทศไทย ได้เผยผลสำรวจเกี่ยวกับการใช้งานยูทูบของปีที่ผ่านมาไว้ว่า คนไทยบริโภควิดีโอออนไลน์มากถึง 62% ของการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่ง 61% ของคนกลุ่มนี้จะเลือกดูรายการผ่านทางยูทูบมากกว่าโทรทัศน์ และระหว่างสัปดาห์มีการรับชมยูทูบมากถึง 14 ชั่วโมง จาก 24 ชั่วโมง และกลุ่มผู้ใช้งานที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี เป็นผู้รับชมสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นการรับชมผ่านสมาร์ทโฟน

แม้ว่าการรับชมคอนเทนต์ออนไลน์จะมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่การเป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้บริการและครีเอเตอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการสร้างคอนเทนต์ออนไลน์แม้จะดูว่าง่ายแต่ก็มีต้นทุนในการผลิตสูงไม่แพ้รายการจากสื่อหลักเลยทีเดียว หากจะทำให้โดนใจและดึงดูดให้ผู้ชมรับชมจนจบ เพราะคนดูคอนเทนต์ออนไลน์สามารถกดปิดและไม่ติดตามต่อได้อย่างรวดเร็ว