posttoday

หัวเว่ยหนุนไทย4.0 ทุ่มผุดแล็บกว่า520ล.

02 มิถุนายน 2560

หัวเว่ยจัดทำไวท์เปเปอร์ส่งเสริมไทยแลนด์ 4.0 พร้อมลงทุนโอเพ่นแล็บ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ดึงเอกชนและภาคการศึกษาร่วม

หัวเว่ยจัดทำไวท์เปเปอร์ส่งเสริมไทยแลนด์ 4.0 พร้อมลงทุนโอเพ่นแล็บ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ดึงเอกชนและภาคการศึกษาร่วม

นายวิคเตอร์ จาง ประธาน บริหารฝ่ายสื่อสารรัฐกิจ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดทำรายงานเชิงลึกการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัลของประเทศไทยเกิดจากการร่วมมือกับบริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ เพื่อเป็นแนวทางยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดผลดี 3 ประการ คือ บริหารจัดการสังคมสูงอายุ เพิ่ม รายได้ให้ภาคการเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

จากผลการศึกษาจะเห็นว่า การทำไวท์เปเปอร์สรุปปัญหาต่างๆ ด้านการใช้งานเทคโนโลยีในประเทศไทย จะช่วยให้พัฒนาและเพิ่มทักษะให้แก่บุคลากรในประเทศ ซึ่งการจัดทำวิสัยทัศน์ พ.ศ. 2564 ที่มีแนวทางการพัฒนาด้านต่างๆ ระยะ 5 ปี (2560-2564) ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย คลาวด์ นวัตกรรม บรอดแบนด์ และ ทุนมนุษย์ ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนดิจิทัลทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณให้พร้อมต่อเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

ทั้งนี้ การร่วมมือกับภาครัฐจะช่วยสนับสนุนในเรื่องของการผลักดันให้ ผู้ประกอบการและผู้สนใจได้เข้ามา เรียนรู้กับนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น โดยการเปิดหัวเว่ย โอเพ่นแล็บที่ ใช้เงินลงทุนกว่า 520 ล้านบาท หรือกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวถือว่าใหญ่ที่สุดสำหรับศูนย์นอกประเทศจากทั้งหมดที่มีอยู่ 7 แห่ง มีเนื้อที่ราว 2,000 ตารางเมตร

นายเดวิด ซุน ประธานกรรมการบริหารและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการเปิดศูนย์ CSIS ที่เพลินจิตเพื่อให้คู่ค้าได้เข้ามาศึกษาเรื่องนวัตกรรม แต่สำหรับศูนย์โอเพ่นแล็บที่ตึกจีทาวเวอร์นี้ จะเปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไปที่ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ นักศึกษาและคู่ค้าในการเข้ามาร่วมมือกันพัฒนา คิดค้นนวัตกรรมใหม่และเทรนนิ่งบุคลากร

"ศูนย์หัวเว่ย โอเพ่นแล็บ แบงค์กอก จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ ยุคดิจิทัลแก่ลูกค้าและพันธมิตรต่างๆ ในอุตสาหกรรม โดยจะเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดและดาต้าเซ็นเตอร์ต่างๆ ช่วยแก้ปัญหาการทดสอบโซลูชั่น การใช้งานต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ทั้งยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม และให้บริการฝึกอบรมด้านไอซีที" นายเดวิด กล่าว

นอกจากนี้ ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการพัฒนานวัตกรรมความร่วมมือและการคิดค้นโซลูชั่นใหม่ร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านต่างๆ อาทิ สมาร์ทซิตี้ ความปลอดภัยสาธารณะ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การเงิน การศึกษา การขนส่งและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต