posttoday

เงินดิจิทัลแพร่หลายยาก ความเสี่ยงเพียบ-ผันผวนหนัก

31 พฤษภาคม 2560

ปัญหาราคาผันผวนและความหวั่นใจเรื่องความน่าเชื่อถือของสกุลเงินดิจิทัล ทำให้การใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลกเกิดขึ้นยาก

โดย...นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ราว 1,000 สกุลเงิน กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก หลังราคาบิตคอยน์ สกุลเงินดิจิทัลที่มีการซื้อขายมากที่สุดในขณะนี้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนหลายรายเริ่มมองเห็นบิตคอยน์เป็นแหล่งทำเงินใหม่ โดยดีมานด์บิตคอยน์ที่กำลังปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ก่อให้เกิดคาดการณ์ว่า บิตคอยน์อาจมีการใช้งานในวงกว้างในอนาคต

แม้ความนิยมบิตคอยน์กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่การผลักดันให้สกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์มีการถือครองและใช้ทำธุรกรรมทางการเงินอย่างแพร่หลายทั่วโลก กลับเกิดขึ้นได้ยาก 

อุปสรรคอย่างแรกสำหรับบิตคอยน์ คงหนีไม่พ้นเรื่องปัญหาความผันผวน ซึ่งการซื้อขายในช่วงไม่นานนี้มีความผันผวนอย่างเห็นได้ชัด จากการที่ราคาบิตคอยน์ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 2,791.69 เหรียญสหรัฐ (ราว 9.5 หมื่นบาท) เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากดีมานด์บิตคอยน์ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ในวันที่ 29 พ.ค. ราคาบิตคอยน์ร่วงลงถึง 18.7% หรือ 520 เหรียญสหรัฐ (ราว 1.7 หมื่นบาท) ไปอยู่ที่ 2,267.73 เหรียญสหรัฐ (ราว 7.7 หมื่นบาท)

ทั้งนี้ บิตคอยน์เกิดจากการกระบวนการสร้างทางคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า การขุด แต่ปริมาณของบิตคอยน์ทั่วโลกทั้งหมดจะถูกจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านบิตคอยน์ หมายความว่า ราคาซื้อขายขึ้นอยู่กับดีมานด์นักลงทุนเป็นหลัก สะท้อนให้เห็นว่าบิตคอยน์มีความผันผวนสูง เพราะสามารถพุ่งขึ้นหรือลดฮวบได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ปัญหาอีกประการที่ตามมาคือเรื่องความน่าเชื่อถือของบิตคอยน์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่บิตคอยน์ไม่มีสินทรัพย์รับประกัน รวมถึงดำเนินการซื้อขายผ่านบล็อกเชนที่ไม่ได้มีธนาคารเป็นตัวกลางในการควบคุม ทำให้กฎระเบียบการกำกับดูแลเกี่ยวกับบิตคอยน์ยังคงไม่ชัดเจนนักในหลายประเทศ เช่น ในสหรัฐ โดยเมื่อเดือน มี.ค. คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ ปฏิเสธคำร้องจัดตั้งกองทุนบิตคอยน์อีทีเอฟในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ แต่ก็กลับมาพิจารณาการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวใหม่เมื่อต้นเดือน พ.ค.

ขณะที่ปัญหาการโจรกรรมบิตคอยน์ก่อนหน้านี้ ทำให้หลายฝ่ายยังคงตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยในการซื้อขาย โดยเมื่อเดือน ส.ค. 2016 เกิดเหตุแฮ็กเกอร์ขโมยบิตคอยน์ คิดเป็นมูลค่า 69 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,355 ล้านบาท) ออกไปจากบริษัทบิตไฟเน็กซ์ในฮ่องกง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายบิตคอยน์

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นหลังความปั่นป่วนในตลาดบิตคอยน์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2014 โดยบริษัท Mt. Gox แพลตฟอร์มซื้อขายบิตคอยน์รายใหญ่ที่สุดในขณะนั้นจากญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เกิดความผิดพลาดในระบบของบริษัทและทำให้บิตคอยน์จำนวนมากถูกขโมยไป คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.7 หมื่นล้านบาท) ในขณะนั้น จนทำให้บริษัทต้องยื่นล้มละลายในที่สุด  

สำหรับในแง่การใช้งานจริงนั้น แม้หลายประเทศจะอนุญาตให้ใช้บิตคอยน์ชำระเงินได้ตามกฎหมาย โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศล่าสุดที่อนุญาตดังกล่าวเมื่อเดือน เม.ย. แต่ความผันผวนของราคาบิตคอยน์ทำให้ผู้บริโภคยังลังเลใช้สกุลเงินดังกล่าวในการชำระสินค้าและบริการต่างๆ ในชีวิตจริง

นอกจากนี้ รัฐบาลหลายประเทศยังไม่อนุมัติการใช้งานบิตคอยน์ตามกฎหมาย หมายความว่า หากต้องการใช้บิตคอยน์ในชีวิตประจำวันจะต้องทำการแปลงบิตคอยน์มาเป็นสกุลเงินกระดาษที่รัฐบาลกลางรับรองค่าเงินเสียก่อน (Fiat Currency)

ในปัจจุบัน ตู้เอทีเอ็มบิตคอยน์ที่แปลงสกุลเงินได้นั้น คิดค่าธรรมเนียมมากกว่า 15% ต่อการแปลงสกุลเงิน 1 ครั้ง โดยค่าธรรมเนียมที่สูงมาก ทำให้ผู้บริโภคมองว่า การใช้สกุลเงินกระดาษนั้นสะดวกกว่าและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า

 

เงินดิจิทัลแพร่หลายยาก ความเสี่ยงเพียบ-ผันผวนหนัก

ด้านเว็บคอยน์เทเลกราฟ ที่รายงานข่าวเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลโดยเฉพาะเปิดเผยว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้งานบิตคอยน์ในวงกว้างประกอบด้วยขีดความสามารถในการใช้ทำธุรกรรม และระดับการยอมรับการใช้งานของร้านค้า ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่องทางการชำระเงินแบบอื่นๆ โดยเฉพาะบัตรเครดิต

สำหรับปัจจัยแรกนั้น เมื่อเทียบเป็นระยะเวลาแล้ว จำนวนการทำธุรกรรมด้วยบิตคอยน์เกิดขึ้นน้อยกว่าบัตรเครดิต หรือการใช้เงินสดอย่างมาก โดยการซื้อขายผ่านระบบบล็อกเชนทำให้จำนวนการทำธุรกรรม/1 วินาที อยู่ที่เพียง 3-7 ครั้ง ซึ่งนับว่าน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการใช้บัตรเครดิต ที่จำนวนครั้งในการทำธุรกรรม/วินาที อยู่ที่ 5.6 หมื่นครั้ง

ขณะที่ปัจจัยต่อมา คือการเปิดรับการใช้บิตคอยน์ในวงกว้าง ซึ่งในบรรดาค้าปลีกแบบมีหน้าร้าน ยอมรับการจ่ายเงินด้วยบิตคอยน์ประมาณ 9,000 แห่งในสหรัฐ ขณะที่เมื่อเทียบกับบัตรเครดิตแล้ว ร้านค้ากว่า 40 ล้านแห่งทั่วโลกรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต

อย่างไรก็ดี แม้การใช้งานบิตคอยน์ในวงกว้างดูจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบิตคอยน์เป็นช่องทางการเงินทางเลือก โดยเฉพาะบนโลกไซเบอร์ เห็นได้ชัดจากกรณีกลุ่มชาโดว์ โบรกเกอร์ แฮ็กเกอร์ผู้ปล่อย วอนนาคราย มัลแวร์เรียกค่าไถ่ไปยัง 150 ประเทศทั่วโลก เรียกค่าไถ่ข้อมูลผ่านบิตคอยน์

ขณะที่ก่อนหน้านี้ บิตคอยน์ยังถือเป็นตัวเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเคลื่อนย้ายเงินออกนอกประเทศแบบไม่โจ่งแจ้งเช่นกัน เช่นในกรณีของนักลงทุนจีน

ทั้งนี้ ปัญหาการอ่อนค่าอย่างหนักของค่าเงินหยวน จนทำให้เงินไหลออกนอกประเทศซึ่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 ที่ผ่านมา ส่งผลรัฐบาลจีนออกมาตรการคุมเข้มเงินทุนไหลออกอย่างเข้มงวด โดยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนบางรายเลือกโยกย้ายเงินไปนอกประเทศผ่านบิตคอยน์ ถึงขั้นที่รัฐบาลต้องขอความร่วมมือจากบริษัทซื้อขายบิตคอยน์ในประเทศให้ร่วมมือในการตรวจสอบของรัฐบาล

แม้ความนิยมของบิตคอยน์กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ปัญหาราคาผันผวนและความหวั่นใจเรื่องความน่าเชื่อถือของสกุลเงินดิจิทัล ทำให้การใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลกเกิดขึ้นยาก แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธความจำเป็นที่ต้องมีทางเลือกอย่างบิตคอยน์ไม่ได้เช่นกัน

ภาพ...เอเอฟพี