posttoday

หนุนสตาร์ทอัพไทย ต้องวางฐานให้แน่น

30 พฤษภาคม 2560

การสนับสนุนสตาร์ทอัพในกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้น ต้องยอมรับว่ามีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนผลักดันกันอย่างต่อเนื่อง

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

การสนับสนุนสตาร์ทอัพในกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้น ต้องยอมรับว่ามีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนผลักดันกันอย่างต่อเนื่อง โดยจุดประสงค์หลักยังคงเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

เฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญของสตาร์ทอัพที่โตช้าเพราะจุดเริ่มต้นความคิดยังมาจากความต้องการของตนเองก่อน แล้วค่อยสร้างนวัตกรรม

"การสร้างนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่ต้องคิดในแนวกว้างมากกว่านี้ มองให้ชัดว่าคุ้มกับการลงทุนไหม และควรดูความสนใจของลูกค้าเป็นหลัก จากนั้นจึงนำโมเดลธุรกิจที่คิดไปทดสอบตลาดว่าเหมาะกับการเดินหน้าต่อหรือไม่" เฉลิมพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพอย่าง ต่อเนื่อง ทั้งด้านเงินทุน แนวความคิด ทักษะการบริหารงาน แต่จำนวนของสตาร์ทอัพที่เดินหน้าต่อและมีนายทุนเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องได้นั้นยังมีน้อย เพราะเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ยังขาดแรงกระตุ้นอย่างแท้จริง ขณะที่สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์

ปัจจุบันสตาร์ทอัพที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ยังประสบความสำเร็จไม่มากนัก เพราะยังไม่เปิดกว้างด้านความคิดมากนักและอาจยังไม่มีความพร้อมเท่ากับสตาร์ทอัพในต่างประเทศ ดังนั้น ทักษะที่สตาร์ทอัพไทยซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ควรมีคือ จุดมุ่งหมายและแรงกระตุ้นที่จะอยากเดินหน้าทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

"จุดมุ่งหมายที่สตาร์ทอัพไทย ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ควรมีคือ อยาก เปลี่ยนโลก หรือทำอย่างไรให้ธุรกิจเดินหน้าประสบความสำเร็จได้มากกว่าแค่หวังเงินรายได้จะได้มีแรงผลักดัน" เฉลิมพล กล่าว

ด้าน ปารดา ทรัพย์ประเสริฐ รองผู้อำนวยการ 500 ตุ๊กตุ๊ก กองทุนร่วมลงทุนจากซิลิคอน วัลเลย์ กล่าวว่าปัญหาของผู้ลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ คือ ค้นหาสตาร์ทอัพที่น่าสนใจและประสบความสำเร็จได้ยาก รวมถึงช่องทางกลางในการเข้าถึงคนกลุ่มนี้ก็ยังไม่มี

"มีนักลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ให้ความสนใจกับสตาร์ทอัพของไทย เพราะสตาร์ทอัพของประเทศเขาเองไม่ค่อยน่าสนใจเท่าที่ควร ทำให้นักลงทุนเหล่านี้มองหาสตาร์ทอัพที่มีสีสันและความ โดดเด่นทางธุรกิจมากขึ้น" ปารดา กล่าว

สำหรับบริษัท 500 ตุ๊กตุ๊ก ยังคงเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพระดับเริ่มต้น (Seed) เพราะมองว่าการลงทุนไม่สูงและเน้นเรื่องความรู้ในการเดินหน้าธุรกิจมากกว่า เพราะถ้าคนกลุ่มนี้มีรากฐานที่ดีโอกาสเติบโตของธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ทั้งนี้ จำนวนสตาร์ทอัพทั่วโลกที่เดินหน้าต่อได้มีเพียง 30-40% ได้รับเงินทุนในซีรี่ส์เอและบีเพียง 10% ส่วนสตาร์ทอัพที่จะไปถึงระดับยูนิคอร์นมีเพียง 0.5% เท่านั้น ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจสตาร์ทอัพยังพัฒนาอีกมาก