posttoday

นักเรียนอินเดียเจ๋ง! ประดิษฐ์ดาวเทียมเบากว่าสมาร์ทโฟนให้นาซ่า

14 พฤษภาคม 2560

ดาวเทียมที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ น้ำหนักเพียง 64 กรัม จากหนุ่มนักประดิษฐ์ชาวอินเดีย กำลังจะถูกทดสอบการใช้งานจริงในเดือนหน้า

ดาวเทียมที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ น้ำหนักเพียง 64 กรัม จากหนุ่มนักประดิษฐ์ชาวอินเดีย กำลังจะถูกทดสอบการใช้งานจริงในเดือนหน้า

ริฟาท ซารุก เด็กนักเรียนจากเมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู วัย 18 ปี เพิ่งจะทุบสถิติใหม่ของเทคโนโลยีการสร้างดาวเทียม ด้วยการประดิษฐ์ดาวเทียมที่มีน้ำหนักเบาที่สุดในโลก ด้วยน้ำหนักเพียง 64 กรัม เท่านั้น เบากว่าสมาร์ทโฟนเสียอีก

ดาวเทียมจิ๋วดวงดังกล่าวนี้มีชื่อว่า KalamSat โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อของอดีตประธานาธิบดีด็อกเตอร์ เอ.พี.เจ อับดุล กลาม ประธานาธิบดีคนที่ 11 แห่งอินเดีย และกำลังเตรียมที่จะถูกปลดปล่อยออกจากสถานีอวกาศของนาซ่า ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ โดยภารกิจดังกล่าวจะกินเวลารวมทั้งสิ้น 240 นาที และดาวเทียมของซารุกจะได้ทดลองใช้งานจริงบนอวกาศเป็นเวลานาน 12 นาที  ซึ่งจะเป็นความภาคภูมิใจครั้งใหญ่ของชาวอินเดีย เนื่องจากนี่จะเป็นครั้งแรกที่ดาวเทียมฝีมือเด็กนักเรียนมัธยม ถูกองค์กรอวกาศระดับโลกนำไปใช้งานจริง รวมถึงเป็นความหวังใหม่ของเทคโนโลยีอวกาศราคาถูกในอนาคต

นักเรียนอินเดียเจ๋ง! ประดิษฐ์ดาวเทียมเบากว่าสมาร์ทโฟนให้นาซ่า ซารุก นักเรียนชั้นเกรด 12 และผลงานดาวเทียมจิ๋วของเขา

ดาวเทียมทรงลูกบาศก์ที่ขึ้นชื่อว่ามีน้ำหนักเบาที่สุดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการประกวด Cubes in Space ที่จัดขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา ตัวดาวเทียมถูกผลิตขึ้นจากแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ วัสดุที่ใช้สำหรับการปรับปรุง และซ่อมแซมอาคาร มีน้ำหนักเบา แต่ในขณะเดียวกันก็มีความแข็งแรง และทนทานต่อการสึกกร่อน ซึ่งวัสดุดังกล่าวถูกผลิตขึ้นจากกระบวนการพิมพ์แบบ 3 มิติ 

ทั้งนี้ดาวเทียม KalamSat ไม่ใช่ผลงานแรกของหนุ่มน้อยนักประดิษฐ์ชาวอินเดีย ก่อนหน้านี้ในปี 2015 ซารุกเพิ่งจะปลดปล่อยบอลลูนสำรวจสภาพอากาศน้ำหนัก 1,200 กรัมที่บรรจุด้วยก๊าซฮิเลียม ออกจากเมือง Kelambakkam ในรัฐบ้านเกิดของเขาไป

นักเรียนอินเดียเจ๋ง! ประดิษฐ์ดาวเทียมเบากว่าสมาร์ทโฟนให้นาซ่า เส้นใยคาร์บอนเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมมากในอุตสาหกรรมการบินและวิศวกรรมอวกาศ รวมถึงการทหาร

ปัจจุบันอินเดียมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศ ด้วยเป้าหมายการเป็นประเทศผู้นำทางอวกาศ ด้วยความโดดเด่นที่ต้นทุนต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อินเดียเพิ่งจะประสบความสำเร็จด้วยการปลดปล่อยดาวเทียมนาโนจำนวน 104 ดวง ด้วยการยิงจรวดขึ้นไปยังอวกาศภายในครั้งเดียว โดยดาวเทียมส่วนใหญ่นั้นเป็นดาวเทียมของต่างชาติ ที่ใช้สำหรับธุรกิจด้านการสื่อสาร และอินเตอร์เน็ต

และย้อนกลับไปในปี 2013 อินเดียได้ส่งจรวดไร้คนขับขึ้นสู่วงโคจรของดาวอังคาร ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 73 ล้านดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น หรือถูกกว่าปฏิบัติการโดยองค์การนาซ่าถึง 9 เท่า เมื่อเทียบกันแล้ว และในปี 2014 เองจรวดจากอินเดียที่ขนส่งดาวเทียม 4 ดวงขึ้นไปยังอวกาศนั้น มีราคาถูกกว่าทุนสร้างภาพยนตร์เรื่อง Gravity ภาพยนตร์ดังที่เล่าเรื่องราวการเอาชีวิตรอดจากภารกิจบนอวกาศของฮอลลีวูดเสียอีก

นักเรียนอินเดียเจ๋ง! ประดิษฐ์ดาวเทียมเบากว่าสมาร์ทโฟนให้นาซ่า บอลลูนสำรวจ และเก็บข้อมูลสภาพอากาศ ผลงานของซารุก เมื่อปี 2015

 

 


 

ขอบคุณวิดีโอจาก Wion