posttoday

โลกเร่งหาทางรับมือ ข่าวลวงสะพัดออนไลน์

07 พฤษภาคม 2560

การเผยแพร่ข่าวสารปลอมลุกลามอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการขาดวัฒนธรรมฉุกคิดก่อนเผยแพร่

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

เมื่อจำนวนเม็ดเงินที่ทุ่มเข้าสู่โฆษณาออนไลน์มีมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางส่วนจึงผันตัวมาเป็นผู้เผยแพร่ข่าวสารเพื่อดึงผู้ติดตามและดึงดูดเงินโฆษณา และหลายครั้งการเผยแพร่ข่าวสารนั้นเป็นไปในแนว “ล่อกด” (คลิกเบต) ด้วยการใช้ “ข่าวลวง”

ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นไปทั่วโลก และยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา

หนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า ข่าวลวงเกี่ยวข้องกับสหรัฐแพร่กระจายอยู่บนโซเชียลมีเดียของจีนด้วยเช่นกัน อย่าง วีแชท (WeChat) และเหว่ย ป๋อ (Weibo) โดยผู้ใช้ในจีนไม่สามารถไปเช็กต้นทางจากสหรัฐได้ เนื่องจากจีนใช้ “เกรท ไฟร์วอลล์” ที่เป็นระบบเซ็นเซอร์ข่าวสารจากต่างประเทศ ครอบคลุมถึงเว็บไซต์ข่าวและโซเชียลมีเดียของต่างชาติ

หนึ่งในเรื่องที่ได้รับการแพร่กระจายในจีน ยังรวมไปถึงทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า ทีมหาเสียงของฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต วางแผนลอบสังหาร เซธ ริช พนักงานของคณะกรรมการพรรคเดโมแครต ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนระหว่างถูกปล้น เพื่อเป็นการสั่งสอนกรณีปล่อยให้เอกสารลับหลุดไปถึงวิกิลีกส์ เว็บไซต์จอมแฉชื่อดัง แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการสรุปสาเหตุที่แท้จริงก็ตาม

ไฟแนนเชียล ไทม์ส ระบุอีกด้วยว่า การเผยแพร่ข่าวสารปลอมในจีนลุกลามอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการขาดวัฒนธรรมฉุกคิดก่อนเผยแพร่ โดยแม้กระทั่งสื่อของทางการจีนอย่างหนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลี ยังเคยแปลบทความจากเว็บไซต์ข่าวล้อเลียน ดิ ออเนียน ที่ระบุว่า คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เป็นผู้ชายที่เซ็กซี่ที่สุดในโลกในปี 2012

อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่ข่าวลวงดังกล่าว ตามมาด้วยความพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยในส่วนของภาคประชาชนมีการก่อตั้งแอคเคาต์ส่วนตัวในเหว่ยป๋อและวีแชท โซเชียลมีเดียของจีน และคอยตรวจสอบข่าวลือต่างๆ ขณะที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนก็มีความเคลื่อนไหวเพื่อจัดการกับข่าวปลอมเช่นกัน เช่น เทนเซนต์ เจ้าของวีแชท จัดตั้ง เจียวเจิ้น เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบข้อเท็จจริง

ไม่เฉพาะแต่จีน ในประเทศอื่นๆ ต่างประสบกับข่าวลวงด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงสำคัญของการเลือกตั้งอย่างฝรั่งเศสและเกาหลีใต้

เอ็มมานูเอล มาครอง ผู้สมัครตัวเก็งที่คาดจะคว้าชัยในการเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบชิงวันที่ 7 พ.ค.นี้ ยื่นฟ้องร้องต่อแหล่งข่าว “X” หลังมีการเผยแพร่ข่าวว่า มาครองมีการจัดตั้งบริษัทอยู่นอกประเทศ (ออฟชอร์) ในชื่อ ลา โพรวิดองซ์ บนเนวิส เกาะในทะเลแคริบเบียน ซึ่งหนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล สอบถามไปยังคณะกรรมการกำกับดูแลการเงินของเนวิส พบว่าไม่มีชื่อบริษัทดังกล่าวปรากฏลงทะเบียนบนเกาะแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ต้องเผชิญกับข่าวลวงในช่วงเวลาตึงเครียดกับเกาหลีเหนือและช่วงเวลาประวัติศาสตร์หลังการถอดถอนประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก เช่น ทรัมป์ ต่อต้านการถอดถอนประธานาธิบดี ปาร์กกึนเฮ หรือรัฐบาลจีนช่วยส่งนักเรียนจีนในเกาหลีใต้ราว 6 หมื่นคน เพื่อมาร่วมการเดินขบวนขับไล่ปาร์กกึนเฮ เป็นต้น

บรรดาบริษัทเทคโนโลยีต่างตื่นตัวในการจัดการกับข่าวลวงดังกล่าว เช่น ฟันท์ เอไอ บริษัทสตาร์ทอัพของเกาหลีใต้ เริ่มให้บริการอัพเดทข้อมูลข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับผู้สมัครในแอพพลิเคชั่นแชตยอดนิยมของเกาหลีใต้อย่าง คาเคา ทอล์ก เช่น การให้คำมั่นหลัก คะแนนความนิยม และข่าวสารล่าสุด โดยเมื่อผู้ใช้พิมพ์ข้อความหรือคำถามไปยังแชตบ็อท โรส ระบบตอบกลับอัตโนมัติจะส่งข้อมูลกลับไปให้ผู้ใช้จากการประมวลฐานข้อมูลขนาดใหญ่