posttoday

วิวัฒนาการในกำมือ

22 เมษายน 2560

ถ้าใครเคยดูสารคดีเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของโลกมาบ้าง คงเคยเห็นการเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ของมนุษย์เทียบกับโลก

โดย...โสภณ ศุภมั่งมี ภาพ : unsplash.com

 ถ้าใครเคยดูสารคดีเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของโลกมาบ้าง คงเคยเห็นการเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ของมนุษย์เทียบกับโลกในรูปแบบของช่วงเวลา 24 ชั่วโมง

 ถ้าโลกถือกำเนิดขึ้นในเวลา 0.00 นาฬิกา ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปเรื่อยๆ มีอุกาบาตตกลงมาใส่พื้นผิวโลกเป็นพักๆ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจำพวกแบคทีเรียเริ่มขึ้นช่วงเวลา 04.00 หลังจากนั้นก็มีพวกสาหร่ายเซลล์เดียวเกิดขึ้นเวลาประมาณบ่ายสอง แล้วก็เป็นพวกแมงกะพรุน (20.48) พืชบนดิน (21.52) ไดโนเสาร์ (22.56) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (23.39) และในที่สุดก็ถึงจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ 23 นาฬิกา 58 นาที 43 วินาที

 เทียบกับโลกมนุษย์มีอายุไม่ถึงสองนาทีด้วยซ้ำ

 แต่ในช่วงเศษเสี้ยวของเวลา มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนทั้งในด้านลักษณะทางกายวิภาค (การปรับตัวให้เดินสองเท้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางไกล หรือการพัฒนาผิวหนังให้มีขนน้อยลง เพื่อง่ายในการหาปรสิตตามร่างกาย) และลักษณะทางพันธุกรรม (ยีนที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้เราสามารถย่อยนมได้ตลอดช่วงชีวิต เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากมนุษย์ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์)

 เราเรียกสิ่งนี้ว่า "วิวัฒนาการ" ซึ่งเกิดจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ผู้ที่อ่อนแอจะถูกคัดกรองให้สูญพันธ์ุไป ส่วนผู้ที่อยู่รอดก็มีโอกาสสืบพันธ์ุ และมีทายาทรุ่นต่อไปที่มีโอกาสอยู่รอดมากขึ้นในธรรมชาติ

 ในช่วงต้นของหนังสือ "กำเนิดแห่งชีวิต" (Origin of Species) ชาร์ลส์ ดาร์วิน เคยพูดเอาไว้ว่า

 “การคัดเลือกโดยธรรมชาติที่เราจะเห็นต่อจากนี้ เป็นพลังซึ่งพร้อมปฏิบัติการอยู่ทุกเมื่อ และเหนือชั้นกว่าความพยายามอันอ่อนด้อยของมนุษย์ชนิดเทียบกันไม่ติด เพราะการทำงานของธรรมชาติเปรียบได้กับงานศิลปะ”

 ในปี 1859 ที่หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ ประโยคข้างต้นคงเป็นความจริงที่เราไม่อาจถกเถียง ตอนนั้นสิ่งแวดล้อมยังคงความเป็นธรรมชาติที่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์อยู่มาก คล้ายกับว่าเราถูกธรรมชาติแกมบังคับให้ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

 ในปัจจุบันลองคิดดูว่าร่างกายเราปรับตัวกันแย่แค่ไหน ความจำเป็นในการ "ต้อง" ปรับตัวแทบไม่หลงเหลืออีกต่อไป (ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ประมาณร้อยละหนึ่งของประชากร ยีนในร่างกายของพวกเขากลายพันธุ์ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของโปรตีนภายในเซลล์ที่เชื้อ HIV จะต้องเกาะติด กลายเป็นว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะติดเชื้อ ซึ่งถ้าพวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงยาต้านไวรัสก็คงไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าอยูในพื้นที่กันดาลอย่างแอฟริกา สิ่งนี้คือความเป็นความตายเลยทีเดียว)

 นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง ขนมขบเคี้ยวที่เต็มไปด้วยโซเดียม สิ่งแวดล้อมที่ปราศจากเชื้อโรค อาหารที่ถูกปรุงแต่งมาอย่างสมบูรณ์ ความปลอดภัยของชีวิตในเมือง การแพทย์ที่ล้ำสมัย เราแทบไม่มีโอกาสป่วยไข้ หรือเป็นแผลติดเชื้อแล้วเสียชีวิตอีกต่อไป

 ฟังไปแล้วดูเหมือนว่าทุกอย่างก็ดี เป็นในสิ่งที่มันควรจะเป็นแล้วนี้นา มนุษย์ยังต้องการอะไรอีกเหรอ?

 นี่แหละครับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "มนุษย์"

 ถ้าพูดให้ดูดีหน่อย คือเราไม่เคยหยุดที่จะพยายามพัฒนาตนเองให้ก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ คอยคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหา (ที่ส่วนมากเกิดจากตนเอง) อยู่เสมอ แต่ถ้าให้พูดกันแบบไม่ภาษาดอกไม้หลายต่อหลายครั้งมนุษย์เราไม่เคยรู้จักคำว่า เพียงพอ ซะมากกว่า

 ช่วงประมาณปลายปีก่อน ได้อ่านข่าวเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ที่ชื่อว่า คริสเปอร์-แคสไนน์ (CRISPR-Cas9) ที่ทำให้กระบวนการตัดดีเอ็นเอออกจากยีน แล้วเอาดีเอ็นเอใหม่ใส่เข้าไปด้วยความรวดเร็วและแม่นยำ มันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง (จนน่ากลัว) ในการปรับแต่งจีโนมให้กับไข่และอสุจิของมนุษย์ได้โดยตรง (สีผม สีตา สีผิว ความสูง รวมไปถึงสติปัญญา)

 เรียกได้ว่าเป็นโรงงานผลิตเด็กทารกที่ Customize ได้ทุกอย่าง ไม่ใช่แค่คนเดียวนะ แต่ทั้งรุ่นแบบไม่สิ้นสุดอีกด้วย

 จนถึงตอนนี้คริสเปอร์ถูกใช้ในสัตว์ทดลองในห้องแลบเท่านั้น มันถูกนำมาปรับเปลี่ยนจีโนมของหนูเพื่อไม่ให้เป็นพาหะนำเชื้อแบคทีเรีย ใส่ยีนเข้าไปในยุงก้นปล่องเพื่อทำให้มันไม่เป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรีย ปรับแต่งตัวอ่อนของหมูเพื่อให้อวัยวะของมันปลอดภัยในการปลูกถ่ายในมนุษย์

 ยังถือว่าโชคดีที่ตอนนี้มีข้อตกลงระหว่างประเทศให้ยุติการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมมนุษย์ ทุกอย่างที่สามารถถ่ายทอดต่อทางพันธุกรรมได้ แต่ข้อจำกัดนี้จะถูกทำลายลงทันทีเมื่อเทคโนโลยีชนิดนั้นได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง คริสเปอร์ก็เช่นเดียวกัน

 เด็กหลอดแก้วเคยเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในช่วงหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน จากเริ่มต้นมันเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นำมาช่วยคู่สามีภรรยาที่มีบุตรได้ยาก (หรือไม่สามารถมีได้) แต่หลังจากนั้นก็เริ่มถูกใช้เพื่อคัดเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงปลอดโรคทางพันธุกรรม

 จนตอนนี้กลายเป็นทางเลือกสำหรับพ่อแม่ที่ต้องการคัดเลือกเพศของลูก ในเอเชียที่ลูกชายถูกให้ความสำคัญกว่าลูกสาว หรือในยุโรปหรืออเมริกาที่ให้เหตุผลเพียงแค่ว่าต้องการสร้างความสมุดลของครอบครัว ถึงตอนนี้การทำเด็กหลอดแก้วได้ก้าวมาไกล (และออกห่างจาก) จุดประสงค์แรกของเทคโนโลยีชนิดนี้อย่างกับหนังคนละเรื่องกันเลยทีเดียว

 คริสเปอร์เป็นเทคโนโลยีที่ทรงพลังกว่าเด็กหลอดแก้วหลายเท่าตัว มีโอกาสที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดอย่างน่ากลัว ลองคิดดูสิว่าถ้าคริสเปอร์ตกไปในมือของคนอย่าง "อดอล์ฟ ฮิตเลอร์" จะเกิดอะไรขึ้น เผ่าพันธุ์ที่สมบูรณ์แบบของเขาจะถูกสร้างขึ้นมาเดินเต็มท้องถนน และพร้อมจะทำลายล้างทุกอย่างที่ "ไม่สมบูรณ์" ในสายตาของพวกเขาอย่างนั้นนะเหรอ?

 นี่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ที่จะตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้ง ในเมื่อวิวัฒนาการคัดเลือกโดยธรรมชาติได้ทำงานเชื่องช้าเกินไปแล้ว

 อะไรคือมาตรฐานใหม่ถ้าเราต้องการปรับปรุงมนุษย์ให้ดีขึ้น และมันหมายความว่ายังไงกันแน่?