posttoday

ดิจิทัลแย่งแชร์ช่อง3-7

21 กุมภาพันธ์ 2560

ทีวีดิจิทัลแข่งดุ ช่อง 3 ช่อง 7 เหนื่อยหนัก หลังทีวีดิจิทัลช่องใหม่ตีตื้น เอเยนซีหันซื้อโฆษณา รายการเรตติ้งดี

ทีวีดิจิทัลแข่งดุ ช่อง 3 ช่อง 7 เหนื่อยหนัก หลังทีวีดิจิทัลช่องใหม่ตีตื้น เอเยนซีหันซื้อโฆษณา รายการเรตติ้งดี

นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส เปิดเผยว่า ภาพรวมทีวีดิจิทัลในปีนี้ไม่แย่กว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เนื่องจากโครงสร้างตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก เพราะลูกค้ามีพฤติกรรมการดูที่เปลี่ยนไป คือ กระจายไปดูรายการของทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากช่องอะนาล็อกเดิมมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณามีการกระจายตัวมากขึ้น เนื่องจากทีวีดิจิทัลระดับท็อป 5-6 มีอำนาจในการต่อรองราคามากขึ้น

ทั้งนี้ แนวโน้มการแข่งขันที่เปลี่ยนไปทำให้ปี 2560 นี้เริ่มไม่มีโควตาการซื้อโฆษณาในช่วงไพรม์ไทม์ของช่อง 3 และช่อง 7 ซึ่งเดิมจะมีการผูกขาดการขายโฆษณา ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใหม่มีโอกาสในการขายโฆษณามากขึ้น ส่วนทีวีช่องไหนจะขายได้เพิ่มเท่าไหร่นั้นคงต้องขึ้นอยู่กับเรตติ้งของรายการนั้นๆ

"เมื่อก่อนเรตติ้งมักจะกระจุกตัวอยู่ที่ทีวี 2-3 ช่อง เนื่องจากมีผู้เล่นแค่ 4 ช่อง แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 24 ช่อง  ทำให้การแข่งขันเปลี่ยนไป ซึ่งก็ถือว่าเป็นกลไกธรรมชาติ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เรตติ้งช่อง 3 กับช่อง 7 หายไปพอสมควร ขณะเดียวกันเอเยนซีก็เหนื่อยมากขึ้น เนื่องจากลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลาย" นางพรพรรณ กล่าว

ด้าน นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จำนวนช่องของทีวีดิจิทัลที่มากขึ้น ทำให้การแข่งขันมีความรุนแรงมากขึ้น จากเดิมการซื้อสื่อโฆษณาจะกระจุกตัวอยู่ที่ 2 ช่องหลัก คือ ช่อง 3 และช่อง 7 พอคู่แข่งน้อย เม็ดเงินโฆษณาก็จะไปกระจุกตัวอยู่ที่ 2 ช่องดังกล่าว และเอเยนซี ที่ได้เวลาโฆษณาไป โดยเฉพาะช่วงไพรม์ไทม์ก็จะเป็นเอเยนซีใหญ่เท่านั้น จึงทำให้ระบบการซื้อโฆษณาสมัยก่อนเหมือนเป็นระบบโควตา

อย่างไรก็ดี เมื่อการแข่งขันเปลี่ยนไปจำนวนผู้เล่นในฟรีทีวีมากขึ้นเม็ดเงินโฆษณาก็เริ่มกระจายตัว ช่องที่เคยขายโฆษณาได้เต็มเวลาก็เริ่มขายไม่เต็ม เนื่องจากลูกค้าแบ่งเม็ดเงินโฆษณาไปซื้อเวลาของช่องอื่นๆ มากขึ้น เมื่อช่องหลักขายโฆษณาไม่เต็มก็ถือเป็นโอกาสของ เอเยนซีรายกลางและรายเล็กที่จะเข้ามาซื้อโฆษณาของทีวีช่องหลักในช่วงเวลาที่เหลือ

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับช่อง 3 และช่อง 7 ทำให้ระบบการขายที่เป็นเหมือนระบบโควตา ซึ่งเอเยนซีรายใหญ่จะได้ไปเริ่มปรับเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากเม็ดเงินถูกแบ่งไปให้ทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ แต่ถ้าหากมองกันดีๆ ระบบนั้นยังอยู่ เพียงแต่เม็ดเงินที่เอเยนซีเคยใช้ในช่องหลักมีการปรับลดลง" นายไตรลุจน์ กล่าว

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่าน ยังถือว่าอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากยังมีปัจจัยลบที่ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโฆษณา แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าพอก้าวเข้าสู่ไตรมาส 2 ภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาน่าจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เห็นสัญญาณได้จากผู้บริโภคเริ่มออกมาจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น