posttoday

การค้าปลีกยุค Digital Economy

17 กุมภาพันธ์ 2560

การก้าวไปสู่ยุคเศรษฐกิจ 4.0 จะต้องพิจารณาจากหลายองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน และต้องก้าวไปพร้อมกัน ทิศทางเดียวกัน

โดย...ภัทรพงศ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

การก้าวไปสู่ยุคเศรษฐกิจ 4.0 จะต้องพิจารณาจากหลายองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน และต้องก้าวไปพร้อมกัน ทิศทางเดียวกัน เกิดการบูรณาการร่วมกันจากนโยบายรัฐ หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการรายย่อย ประชาชนผู้บริโภค เพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจการค้าสมัยใหม่ รวมถึงการที่ประเทศดำเนินเศรษฐกิจแบบดิจิทัล อีโคโนมี (Digital Economy) แบบมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

Digital Economy คือเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้ทันยุคสมัย เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ การศึกษา การสาธารณสุข การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

การค้าปลีกแบบดั้งเดิม โดยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางหรือย่อม รวมถึงร้านค้าโชห่วย จะต้องมีการปรับตัวในด้านต่างๆ เพื่อให้ทันยุคสมัยในการค้ารูปแบบใหม่ที่เข้ามา นโยบายรัฐอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจการค้าปลีกแบบดั้งเดิมต่อไป แต่ผู้ประกอบการเองก็ต้องช่วยเหลือตนเองด้วยส่วนหนึ่ง มิหวังรอพึ่งการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ ที่อาจมีบ้าง ไม่ตรงจุดบ้าง ไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุมบ้าง ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกแบบดั้งเดิมอาจมีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง มีอำนาจในการต่อรอง ไม่ว่ากับรัฐหรือกลุ่มธุรกิจอื่นๆ

การรวมกลุ่มการค้าจะทำให้สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญชำนาญการ ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน การใช้เทคโนโลยีการผลิตและการบริการร่วมกัน อย่าปิดกั้นตนเองให้อยู่แค่ในกรอบ การเปิดโอกาสให้ตนเองไปสู่โลกกว้างนั้นไม่เพียงแต่ให้โอกาสตนเอง แต่ยังให้โอกาสแก่ผู้อื่น และก่อเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม สังคม ชุมชนถิ่นฐานนั้นด้วย ถ้ารัฐยังไม่สนใจเราก็สร้างองค์ความรู้เอง เราก็ต้องดิ้นรนต่อสู้ด้วยตนเอง แต่การรวมกลุ่มนั้นมันคือมวลชน เราไม่ได้ต่อสู้ทำธุรกิจโดยลำพัง ถ้าจะลองผิดลองถูกกันนั้นก็ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นโอกาสทางธุรกิจต่อไป

ปัจจุบันในหลายธุรกิจร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมยังจมอยู่กับการขายแบบออฟไลน์ ความจริงแล้วการค้าปลีกวันนี้และอนาคตนั้น การค้าปลีกแบบออฟไลน์และออนไลน์เป็นเรื่องเดียวกัน และยังต้องควบคู่กันต่อไป ดังนั้นเป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่จะทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐ ผู้ประกอบการร้านค้า รวมถึงประชาชนผู้บริโภค ว่าทุกฝ่ายควรจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ ในทุกภาคส่วน ด้านนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลเพื่อชี้นำทิศทางของการพัฒนาให้แก่หน่วยงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และกำหนดนโยบายสนับสนุนด้านการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) นวัตกรรม (Innovation) จัดหาตลาดให้แก่เอกชน เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง และพัฒนาคนไทยที่มีความสามารถ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายรัฐที่ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านองค์ความรู้ที่ผู้ประกอบการจำนวนมากยังต้องการ และยังเข้าไม่ถึงปัจจัยที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ แต่ยังมีนโยบายและข้อกำหนดต่างๆ ของรัฐอีกมาก ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม ดังนั้นรัฐควรตระหนักต่อการค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่มีอยู่อีกจำนวนมากให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทยต่อไป

ด้านผู้ประกอบการร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม รวมถึงโชห่วย วันนี้ก็มีการปรับตัวไปแล้วส่วนหนึ่งที่ปรับตัวเข้าสู่สถานการณ์การค้ายุค 4.0 ไม่ว่าจะเป็นการทำเว็บไซต์ร้านค้าเพื่อผันตนเองเข้าเป็นธุรกิจ e-Commerce ไม่ก็ใช้ Facebook ทำร้านค้าออนไลน์ เพื่อเป็นช่องทางการจัดจำหน่าย ประชาสัมพันธ์ หรือทำการตลาดออนไลน์ในอีกทางหนึ่ง ไม่ก็ร้านโชห่วย ยี่ปั๊วนำเทคโนโลยีระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลังและการขาย (POS) เฉกเช่นเดียวกับการค้าปลีกสมัยใหม่หรือร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าที่ใช้กัน เข้ามาใช้เพื่อความสะดวกรวดเร็วและง่ายต่อการดำเนินธุรกิจ ไม่ก็ร้านโชห่วยปรับปรุงร้านค้าให้น่าสนใจ ราคาเป็นธรรม มีการตลาดโปรโมชั่นต่างๆ สิ่งเหล่านี้เราจะเห็นได้ว่าทุกสิ่งขึ้นอยู่กับการเปิดรับ เพราะถ้าไม่ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง ไม่เปิดรับต่อสิ่งใหม่ที่เข้ามานั้นก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ที่มาถึงวันนี้ได้ ก็เพราะเกิดจากการยอมรับเพื่อให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จนมาได้ไกลขนาดนี้

ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมควรมี Mindset หรือความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรม เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ที่จะเข้ามา การเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายความว่าร้าน
โชห่วยจะต้องทำเป็นร้านสะดวกซื้อ การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เปลี่ยนทั้งหมด แต่นำสิ่งใหม่ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ใหม่ เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการรวมกลุ่มร้านค้าเข้าไปประยุกต์ใช้ ปรับปรุงพัฒนาให้ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อของประชาชนผู้บริโภค นโยบายรัฐควรเกื้อหนุน ส่งเสริมสนับสนุนด้านการลงทุน ปลดล็อกข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าปลีกแบบดั้งเดิม รัฐสนับสนุนแก่ผู้ที่ต้องการนั้นจะก่อเกิดประโยชน์มากกว่า ให้แก่ผู้ที่ขาดดีกว่าให้ผู้ที่ดีพร้อมแล้วพร้อมยิ่งกว่า ศักยภาพจะได้ทัดเทียมกัน เกิดการแข่งขันที่สมน้ำสมเนื้อ เมื่อเกิดการแข่งขันก็จะเกิดการพัฒนาด้วยตัวของระบบเอง อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องยาก รัฐแค่ต้องตอบโจทย์ให้ตรงจุด เพราะการปรับปรุงพัฒนาที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้นล้วนเกิดจากผู้ประกอบการร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่ดิ้นรนด้วยตนเองแทบทั้งสิ้น

อะไรมันก็เปลี่ยนได้ จะมากหรือน้อย จะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความคิดที่จะเปลี่ยน