posttoday

วิดีโอออนดีมานด์พุ่งรับพฤติกรรมคนดูทีวีย้อนหลัง

08 กุมภาพันธ์ 2560

กรุ๊ปเอ็ม ชี้ยุควิดีโอออนดีมานด์โต เจ้าของสถานีปรับตัวลุยเว็บไซต์คอนเทนต์ย้อนหลัง รับเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์

กรุ๊ปเอ็ม ชี้ยุควิดีโอออนดีมานด์โต เจ้าของสถานีปรับตัวลุยเว็บไซต์คอนเทนต์ย้อนหลัง รับเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์

นายรัฐกร สืบสุข เทรดดิ้ง พาร์ท เนอร์ กรุ๊ปเอ็ม เปิดเผยว่า เจ้าของสถานีควรปรับกลยุทธ์หันนำคอนเทนต์ที่มีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการลงทุนระบบออนไลน์เพื่อทำคอนเทนต์แพร่ภาพเว็บไซต์ นอกเหนือจากผลิตคอนเทนต์ป้อนฟรีทีวี ทีวีดิจิทัล และนำคอนเทนต์ลงยูทูบแล้ว เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ชมที่หันไปดูวิดีโอออนดีมานด์หรือดูคอนเทนต์ย้อนหลังเพิ่มเป็น 60-70% โดยมากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ 15-24 ปี

ขณะที่พฤติกรรมการชมผ่านจอทีวีแบบสดเหลือเป็น 30-40% กลุ่มผู้ชมเป็นผู้ใหญ่ 35 ปีขึ้นไป ภาวะที่เกิดขึ้นเป็นไปทางทิศทางเดียวกับอเมริกา โดยคอนเทนต์ดูละครการดูย้อนหลังกำลัง มาแรงและต้องจับตา เช่น เว็บไซต์ บักกาบูทีวี ช่อง 7 เป็นผู้ทำแล้วประสบความสำเร็จ มองว่าเป็นการสร้างรายได้เพิ่มโดยเฉพาะโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าเจ้าของสินค้า ใช้งบ 15-20% จากงบโฆษณารวมทั้งหมด

"การแข่งขันวิดีโอออนดีมานด์เริ่มมีหลายรายให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ไลน์ทีวี เอไอเอส และเฟซบุ๊กมีแนวโน้มว่าจะทำด้วยเช่นเดียวกัน จากเดิมมีผู้เล่นอย่างยูทูบเป็นรายหลัก เนื่องจากเทรนด์การดูทีวีแบบสดอยู่ในภาวะขาลง ซึ่งการดูทีวีแบบสดส่วนใหญ่ผู้บริโภครับชม คอนเทนต์เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต ส่วนเพย์ทีวีหรือคอนเทนต์ที่ต้องเสียเงินเพื่อรับชม กลุ่มเป้าหมายต้องมีกำลังซื้ออยู่ในวัยทำงาน" นายรัฐกร กล่าว

ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่า 1.1 แสนล้านบาท คาดว่าเติบโต 10% การเติบโตหลักๆ มาจาก 3 สื่อ ประกอบด้วย สื่อโฆษณาออนไลน์เติบโต 25-30% ทางทีวีไม่ต่ำกว่า 15% และสื่อโฆษณานอกบ้าน เติบโต 10-15% อย่างไรก็ดีหากทำเว็บไซต์คอนเทนต์ย้อนหลัง โอกาสที่เจ้าของสถานีมีรายได้จากโฆษณา 60-100% เมื่อเทียบกับการนำคอนเทนต์ลงยูทูบหรือช่องทางอื่นๆ เป็นรูปแบบแชร์รายได้เหลือ 30-50%

สำหรับเทรนด์ปีนี้มีด้วยกัน 5 เทรนด์ ได้แก่ 1.แบรนด์ต้องเข้าถึงพฤติกรรม ผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง 2.นำไลฟ์วิดีโอมาใช้ถ่ายทอดสดเปิดตัวสินค้า 3.คอนเทนต์เป็นหัวใจสำคัญ แต่การนำคอนเทนต์ไปใช้ต้องมีความเฉพาะ เช่น สำหรับโซเชียลมีเดีย 4.ช่องทางรับสื่อเพิ่มขึ้น ความท้าทายคือการบริหารสื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย 5.การเข้าถึง ผู้บริโภคต่างจังหวัด จากพฤติกรรมการเปิดรับสื่อน้อยกว่าคนเมืองและคุ้นชินชีวิตแบบเดิม

นายรัฐกร กล่าวว่า การวัดเรตติ้ง วงการสื่อในไทยที่กำลังมี 2 ระบบ ประกอบด้วย 1.การวัดจากบริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ซึ่งได้เพิ่มการวัดผลทางออนไลน์ และระบบที่ 2 การวัดบริษัท กันตาร์มีเดีย ในรูปแบบมัลติกรีนเรตติ้ง ซึ่งนำผลวัดมาใช้เดือน ธ.ค. บริษัทมองว่าเจ้าของสินค้าจะใช้ระบบแบบใด ต้องพิจารณาฐานลูกค้า หรือนำผลวัดของทั้งสองมาพิจารณาความแตกต่างของเรตติ้ง เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ลงสื่อโฆษณา

ภาพประกอบข่าว