posttoday

ออนไลน์แบบไทยๆ แนวโน้มยอดพุ่ง

11 ธันวาคม 2559

การจัดงานเพื่อกระตุ้นผู้บริโภคให้มีการจับจ่ายบนออนไลน์ในประเทศไทย ได้แก่ Thailand Online Mega Sale 2016

การจัดงานเพื่อกระตุ้นผู้บริโภคให้มีการจับจ่ายบนออนไลน์ในประเทศไทย ได้แก่ Thailand Online Mega Sale 2016 ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงไอซีที กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็ก ทรอนิกส์ไทย

“แนวคิดการจัดงานนี้ เหมือนกับงานช็อปปิ้งออนไลน์ในต่างประเทศเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันที่พฤติกรรมในการจับจ่ายของเราไม่เหมือนกับเค้า เราไม่ได้กำหนดเป็นวันคนโสด หรือไม่มีเทศกาลขอบคุณพระเจ้า ซึ่ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ได้คุยกันหลายครั้งว่าจะกำหนดเป็นวันไหนดี ที่จะกระตุ้นให้คนช็อปออนไลน์” รัฐศาสตร์ กรสูต ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็ก ทรอนิกส์ ETDA กล่าว

ที่ผ่านมา งาน Thailand Online Mega Sale จึงกำหนดในช่วงวันที่ 1-9 ก.ย.ของทุกปี ซึ่งในปีนี้ที่จัดไปเห็นแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูง โดยตลอด 9 วันในการจัดงานมีผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์งานร่วม 5 แสนราย สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 355 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความสำเร็จมากกว่าปีที่ผ่านมาที่มียอดเงิน 80 ล้านบาท

สำหรับมหกรรม Thailand Online Mega Sale 2016 ในปีนี้ มีสินค้าเข้าร่วมกว่า 1 หมื่นรายการ ให้ลดสูงสุดถึง 30-80% จากร้านออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์และเข้าร่วมโครงการกว่า 800 ร้านค้า โดยจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่าเท่าตัว โดยสินค้าและบริการที่ร่วมโครงการในปีนี้จะยังครอบคลุมทุกกลุ่ม อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไอที โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์อุปกรณ์ภายในบ้าน เสื้อผ้าและแฟชั่น ธุรกิจท่องเที่ยว สินค้าแม่และเด็ก เครื่องสำอาง อาหารและสุขภาพ ตลอดจนพรีเมียมไลฟ์สไตล์แบรนด์ ฯลฯ จากผู้ประกอบการ เช่น ซิกน่าประกันภัย เซ็นทรัลออนไลน์ tarad.com mPay Lnwshop Kerry Express Korea King Thailand Top Value เป็นต้น

รัฐศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค Thailand Online Mega Sale 2016 พบว่า นักช็อปหลักยังคงเป็นนักช็อปหญิงที่มีสัดส่วนการช็อป ถึง 61% ผู้ชาย 38% เท่านั้น สำหรับช่วงอายุนักช็อปในงานนี้อยู่ที่ระหว่างอายุ 20-29 ปี มาแรงอันดับ 1 ถึง 44% รองลงมาคือช่วงอายุ 30-39 ปี 30% สำหรับวัย 40-49 ปี มีสัดส่วนเพียง 14% ด้านสินค้าที่นิยมซื้อมากที่สุด คือ สินค้าสุขภาพ และความงาม สัดส่วนการช็อปถึง 41% ขณะที่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต (ปีที่แล้วติดอันดับ 1) และสินค้าแฟชั่น มีผู้ช็อป 29% เท่ากัน สำหรับทางด้านช่องทางการชำระเงิน 3 อันดับแรกพบว่า มีการซื้อสินค้าผ่านบัตรเครดิตมากที่สุด 37% การโอนเงินผ่านธนาคาร 29% การโอนเงินออนไลน์ 18%

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแนวโน้มการซื้อสินค้าออนไลน์จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี ซึ่งในปี 2560 ได้ตั้งเป้าหมายการขยายตัวที่ 30% จากแนวโน้มของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหม่จากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศด้วย

“ทั้งนี้ งานในลักษณะนี้จะประสบความสำเร็จ เอกชนจะต้องช่วยกันขับเคลื่อน เช่นเดียวกับในต่างประเทศ แต่ช่วงแรกรัฐจะช่วยสนับสนุนเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค” รัฐศาสตร์ กล่าว

ชัยกรณ์ รอดรัก ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ท็อปแวลู คอร์ปอเรท ผู้ให้บริการเว็บไซต์ช็อปปิ้งออนไลน์ www.topvalue.com กล่าวว่า การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐสำหรับภาคเอกชนมองว่าเป็นเรื่องดีแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง ซึ่งบริษัทได้เสนอเป็นงบสนับสนุนเพื่อจูงใจให้ร้านค้าที่เป็นออฟไลน์หรือออนไลน์ แต่อยู่ในช่องทางโซเชียลมีเดียสนใจเข้าสู่ระบบมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่มากขึ้น เพื่อที่การจัดระเบียบต่างๆ เป็นไปอย่างมีมาตรฐานมากขึ้น

“ตัวเลขของผู้ที่ใช้งานโซเชียลมีเดียนั้นมีจำนวนสูงก็จริง แต่คนเหล่านี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเข้ามาซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งหมด เพราะยังมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊กของทางร้านค้ากับลูกค้าเองจำนวนมาก ทำให้การซื้อขายผ่านผู้ให้บริการด้านการช็อปปิ้งออนไลน์อย่าง ท็อปแวลู ลาซาด้า หรือซาโลร่า เป็นต้น ยังมีข้อจำกัด อาจเป็นเพราะความกังวลและยังไม่กล้าใช้จ่ายอย่างเต็มที่ ทำให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์ยังจำกัดอยู่แค่ลูกค้าที่เคยซื้อมาก่อนและมาซื้อซ้ำ” ชัยกรณ์ กล่าว

ด้าน จิดานันท์ ตันพิทักษ์สิทธิ์ รองประธานฝ่ายบริหารแบรนด์ ประชาสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างองค์กร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดกิจกรรมThailand Online Mega Sale 2016 ร่วมกับทางเอ็ดด้านั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าที่ไม่เคยซื้อสินค้าออนไลน์ และร้านค้าที่เพิ่งเข้าร่วมกับทางลาซาด้า มีโอกาสประชาสัมพันธ์ร้านค้าและสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ถือเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์

เทเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการ ช็อปปี้ (Shopee) แอพพลิเคชั่นซื้อขายออนไลน์บนมือถือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน กล่าวว่า ช็อปปี้เพิ่งเปิดให้บริการบนมือถือมา
เพียง 1 ปี จึงยังไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับทางหน่วยงานภาครัฐมากนัก นอกจากการไปร่วมออกบูธที่งาน Thailand Online Mega Sale 2016 ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ให้ช็อปปี้เป็นที่รู้จักแก่ลูกค้าออฟไลน์มากขึ้น การสนับสนุนของภาครัฐถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของผู้ประกอบการ เพราะจะช่วยให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเทรนด์การช็อปปิ้งผ่านมือถือของคนไทยมีการเพิ่มขึ้น

ชลิต ลิมปนะเวช อุปนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การใช้กิมมิกวันที่ 11 เดือน 11 หรือวันที่ 12 เดือน 12 ในการทำกิจกรรมส่งเสริมการของของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซใน
ต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีนั้น ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักการตลาด ซึ่งการที่จะนำสินค้ามีจำหน่ายในราคาพิเศษได้ เจ้าของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซต้องไปขอความร่วมมือเจ้าของสินค้าประเภทต่างๆ ให้เข้ามาร่วมมือทำกิจกรรมการตลาดในรูปแบบดังกล่าว โดยในส่วนของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยก็สามารถทำได้ หากเจ้าของสินค้าที่นำสินค้าเข้าไปฝากขายให้ความร่วมมือ

“ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เพราะมีความสะดวกไม่ต้องเสียเวลารถติดบนท้องถนน จึงทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเริ่มมีการปรับรูปแบบของการทำตลาดเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้รูปแบบของการทำตลาดจะเปลี่ยนเป็น Mass Customization หรือการทำการตลาดแบบเจาะจงลูกค้าเป็นรายๆไป” ชลิต กล่าว