posttoday

บริษัทผู้พัฒนา "โปเกมอน โก" สร้างรายได้จากเกมวันละเกือบ 350ล้าน

14 สิงหาคม 2559

เว็บไซต์ด้านข้อมูลการตลาดเผย "ไนแอนติก" ผู้พัฒนา "โปเกมอน โก" โกยรายได้จากผู้เล่นได้วันละเกือบ 350 ล้านบาท

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ไม่ว่าจะชื่นชอบหรือรู้สึกขัดหูขัดตาที่เห็นคนรอบตัวกลายมาเป็นคอเกมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทว่าในวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธกระแสของเกมเออาร์ชื่อดังอย่าง “โปเกมอน โก” ที่กลายเป็นปรากฏการณ์และทำสถิติใหม่ต่างๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

เว็บไซต์ด้านข้อมูลการตลาด แอพแอนนี ระบุว่า มีผู้ดาวน์โหลดเกมนี้บนเพลย์สโตร์ไปแล้วกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก และสามารถทำเงินให้บริษัท ไนแอนติก ได้ถึงวันละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 350 ล้านบาท)

เพียงแค่เปิดตัวมาได้ 1 เดือนกว่า ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. โปเกมอน โก กลายเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีผู้ใช้งานจริงในแต่ละวันมากกว่าเฟซบุ๊กถึง 2 เท่า เฉพาะผู้เล่นในสหรัฐและอังกฤษมีจำนวนถึง 11 ล้านคน จากการสำรวจโดยบริษัท ยูกอฟ ในช่วง 5 สัปดาห์แรกเท่านั้น

ที่สำคัญก็คือ โปเกมอน โก สามารถดึงดูดเงินจากกระเป๋าของผู้เล่นได้แล้วถึง 268 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9,319 ล้านบาท) ภายใน 5 สัปดาห์แรก ซึ่งคาดว่าตัวเลขที่แท้จริงภายหลังเปิดตัวมาได้เดือนกว่าและขยายไปในหลายประเทศทั่วโลกนั้น จะทำให้ 4 บริษัทที่เกี่ยวข้อง นำโดยผู้พัฒนาเกมหลัก ไนแอนติก สามารถทำเงินทางตรงได้กว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.47 หมื่นล้านบาท)

จากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 5 หมื่นคน ในสหรัฐ อังกฤษ และเยอรมนี พบว่า ผู้เล่นทุก 1 ใน 5 คน จะยอมจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ในเกมเพื่อสร้างความได้เปรียบในการไล่ล่ามอนสเตอร์ โดยในอังกฤษมีผู้เล่นที่ซื้อของในเกมช่วง 1 เดือนแรกถึง 1 ล้านคน และมีอัตราการใช้เงินระหว่าง 80 เพนนี (ราว 37 บาท) ถึง 14.99 ปอนด์ (ราว 674 บาท) ขณะที่การจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์เสริมของคอเกมอเมริกันจะอยู่ที่ราว 29% และคอเกมเยอรมัน 20% ในจำนวนนี้ 9% หรือคิดเป็นชาวเยอรมัน 1.42 แสนคน ยอมจ่ายเงินไปมากกว่า 100 ยูโร (เกือบ 3,900 บาท)

“การวิจัยของเราแสดงผลเพียงแค่ช่วง 5 สัปดาห์แรกใน 3 ประเทศเท่านั้น ก็มีเงินสะพัดถึง 1 ใน 4 ของหลักพันล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ยิ่งปัจจุบันเกมขยายไปถึง 72 ประเทศทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจหากโปเกมอน โก จะเป็นเกมพันล้านจริงๆ” สตีเฟน ฮาร์มสตัน หัวหน้าผู้ทำรายงานของยูกอฟ กล่าวกับไฟแนนเชียล ไทมส์

ลำพังตัวเลขดังกล่าวยังเป็นเพียงรายได้เพียงด้านเดียวของบริษัทเท่านั้น ยังไม่นับรวมมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้บริษัท นินเทนโด 1 ในผู้มีส่วนร่วมหลักของเกมนี้ มีมูลค่าการตลาดแซงหน้ากลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง โซนี่ คอร์ป ถึง 3 แสนล้านเยน (ราว 9.91 หมื่นล้านบาท) ไปอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านเยน (ราว 1.48 ล้านล้านบาท) ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่ในอนาคตบริษัทที่เกี่ยวข้องยังมีแผนเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความต่อเนื่องของคอเกม เช่น การแลกเปลี่ยน-ซื้อขายโปเกมอน ซึ่งปัจจุบันเกมเออาร์ตัวนี้ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ และยังเหลือพื้นที่ให้ไปต่อได้อีกมาก โดยเฉพาะเมื่อมองจากจุดเริ่มต้นของโปเกมอนที่มาจากการ์ดเกมของเด็กๆ ไปสู่เกมบอย การ์ตูน จนถึงธุรกิจหลายแขนง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีกระแสการห้ามหรือขอความร่วมมือคอเกมไม่ให้เล่นในพื้นที่อ่อนไหวของหลายประเทศ เช่น คุกตวลสเลง ในกัมพูชา รวมถึงการยื่นเรื่องไปยังบริษัทผู้พัฒนาเกมให้ถอดรายชื่อสถานที่เสี่ยงและอ่อนไหวออกจากการจับโปเกมอนแล้ว เพราะมีรายงานอุบัติเหตุและปัญหาต่างๆ จำนวนมาก ทำให้ความนิยมในเกมอาจได้รับผลกระทบไปบ้าง และยังไม่แน่ชัดว่า คอเกมในกว่าสิบประเทศฝั่งเอเชีย ตั้งแต่ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา ไปจนถึงปาปัวนิวกินี ฟิจิ และปาเลา จะยอมจ่ายเงินให้กับเกมนี้เหมือนประเทศฝั่งตะวันตก ส่วนตลาดใหญ่อย่าง จีน และอินเดีย ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้เปิดบ้านต้อนรับเกมพันล้านเกมนี้หรือไม่

ภาพ...เอเอฟพี