posttoday

เตือนผู้ปกครอง ระวังโปเกมอนทำเด็กสูญเงินเกินจำเป็น

14 สิงหาคม 2559

ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เตือนผู้ปกครองระวังเด็กใช้จ่ายเงินมากเกินความจำเป็นในการเล่นโปเกมอน โก

ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เตือนผู้ปกครองระวังเด็กใช้จ่ายเงินมากเกินความจำเป็นในการเล่นโปเกมอน โก

หลังจากเปิดตัวแอพพลิเคชั่นเกมยอดฮิต “โปเกมอน โก” บรรดานักล่าโปเกมอนไปรวมตัวกันจับตัวโปเกมอน จนเป็นที่สังเกตเห็นได้ตามจุดต่างๆ ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มออกมาแสดงความวิตกถึงผลลัพธ์อีกด้านหนึ่งที่จะกระทบต่อผู้เล่น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้ก็ออกมาแสดงความกังวลเช่นกัน

ยุพา ทวีวัฒนกิจบวร ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ระบุว่า โดยปกติแล้วการเล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องของการผ่อนคลายสนุกสนาน ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายทั้งหมด แต่กรณีของเกมโปเกมอน ซึ่งเมื่อทราบมาว่าหลายประเทศซึ่งเริ่มเล่นมาก่อนประเทศไทย เริ่มประสบปัญหาที่เป็นผลกระทบจากเกมนี้ให้เห็นแล้ว เราเองก็ควรจะหามาตรการรับมือเฝ้าระวัง โดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาขึ้นก่อน ซึ่งในมุมของเด็กและเยาวชนนั้น วธ.ระวังในมุมที่เกมอาจจะกลายเป็นสิ่งมอมเมาได้

หลายปีที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์เรื่องเกี่ยวกับเด็กติดเกม ซึ่งจากที่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่ช่วยกันหามาตรการป้องกัน เฝ้าระวังและแก้ไข พบว่าปัญหานั้นเริ่มลดลง พบว่าสถิติของเด็กติดเกมน้อยลง แต่ปรากฏการณ์เกมโปเกมอน โกเริ่มทำให้สงสัยแล้วว่า สิ่งที่รณรงค์มาจะหายไปหรือไม่

“เราฝากข้อกังวลไปถึงผู้ประกอบผู้ให้บริการเกม เรื่องการเล่นในพื้นที่อย่างโบราณสถาน หรือ พื้นที่อ่อนไหวทางวัฒนธรรม ศาสนา ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะถูกเกมนี้เข้าไปคุกคามได้ เราถามผู้ประกอบการว่า ทำอย่างไรไม่ให้เกิดเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนัก อีกเรื่องที่เราดูแลคือให้เด็กเยาวชนเรารู้เท่าทันสื่อ ในยุคที่เริ่มรุนแรงกว่าสังคมก้มหน้า เพราะในอีกไม่นาน เกมจะพัฒนาให้ผู้เล่นสามารถซื้อไอเทมเพิ่มเพื่อดูดโปเกมอน ตัวอื่นๆ ไปอยู่ในที่เดียวกัน ให้ไปรวมกันยังจุดที่ต้องการได้ ซึ่งตรงนี้จะเริ่มกลายเป็นภัยมืดที่แฝงอยู่ โดยที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

อีกมุมที่เด็กจะต้องเจอในอีกไม่นาน คือ เกมที่เพิ่งเปิดบริการไม่กี่วันนี้ยังเป็นแค่บริการส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการจะปล่อยออกมาอีก คือ หากจะทำให้ตัวโปเกมอนที่จับมาได้แล้วเก่งขึ้น ต้องซื้อไอเท็มหรือส่วนประกอบอื่นเพิ่มเติม และจะเริ่มเป็นเรื่องของการต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเล่น เราเคยมีข้อมูลว่า สมัยที่เด็กยังนิยมเล่นเกมที่ต่อสู้กันด้วยการ์ดโปเกมอนนั้น มีเด็กที่เสียเงินซื้อการ์ดมาเล่นนับหมื่นบาทต่อเดือน น่าตกใจที่ใช้เงินหนึ่งหมื่นบาทซื้อการ์ดนั้นกลายเป็นเรื่องปกติของเด็กที่เล่นเกมนี้ กระทั่งมีเด็กบางคนบอกว่า ยอมเสียเงิน 2-3 หมื่นเพื่อซื้อการ์ดบางแผ่นด้วยซ้ำไป พอโปเกมอนเป็นเกมดังในโทรศัพท์มือถือ เราก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้อีกบ้าง”ยุพา กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ระบุอีกว่า เด็กติดเกมจะส่งปัญหาหลายด้าน ทำให้เด็กหมกมุ่นกับการเล่นเกมจนกระทบต่อผลของการเรียน รวมถึงสั่นคลอนความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เพราะมัวเล่นแต่เกมตลอดเวลา ปัญหานี้ทุกฝ่ายทั้งคุณพ่อ คุณแม่ ตัวเด็กเอง และผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับตัวเด็ก ต้องรับมือร่วมกัน

ก่อนหน้านี้ปัญหาเรื่องเด็กติดเกมสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่งจากการกำกับดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ แต่ปัจจุบันเมื่อข้อจำกัดในการเล่นเกมเปลี่ยนไปจากเดิม เยาวชนสามารถเล่นเกมต่างๆ ได้จากแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต ทำให้ยิ่งกำกับดูแลยาก เพราะสามารถเข้าถึงเกมได้จากทุกที่ทุกเวลา มาตรการที่เคยใช้อย่าง สามารถจำกัดอายุผู้เล่นได้จากการใช้บัตรประชาชนหรือการระบุตัวตนลงทะเบียน แต่ก็พบว่ามีใช้บัตรประชาชนพ่อแม่หรือคนอื่นลงทะเบียนเล่นแทน

“ในอนาคตอันใกล้มีเรื่องให้ผู้ปกครองต้องกังวลแน่ เมื่อเกมโปเกมอนเข้าสู่โหมดต่อสู้ ก็เริ่มเข้าสู่โหมดธุรกิจเต็มตัว จะมีเรื่องการบูมบางพื้นที่ด้วยเกมตามมา เด็กจะไปรวมกันที่ไหนเราต้องตามไปเฝ้าระวัง จะมีเรื่องของการซื้อขายไอเท็ม เด็กบางคนอาจจะยอมเสียเงินหลักหมื่นหลักแสนบาท เราจะใช้มาตรการจำกัดวงเงินเหมือนยุคหนึ่งที่เด็กเล่นเกมเติมเงินได้แค่ไหน เรายังเฝ้าระวังวางมาตรการล่วงหน้าได้เพราะเกมยังไม่ได้เปิดเฟสต่อไป เราต้องดักทางแต่ละจุดเอาไว้ ซึ่งทำได้ ผู้ประกอบการเองควรคำนึงถึงสังคมบ้าง อย่าให้เกมกระทบต่อสังคมจนทำลายบรรยากาศการเล่น ซึ่งควรจะสนุกสนานและเป็นแง่บวกได้” ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าว