posttoday

สนช.เห็นชอบตั้งกระทรวงดิจิทัล

03 มิถุนายน 2559

สนช.เห็นชอบ 122 เสียง ผ่าน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่…) ตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

สนช.เห็นชอบ 122 เสียง ผ่าน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่…) ตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติ 122 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่…) เพื่อตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว กำหนดให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีส่วนราชการประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ทั้งนี้ นายสมบูรณ์ งามลักษณ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ตั้งข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. หลักการและเหตุผลของการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ควรครอบคลุมไปถึงการรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีการขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่บูรณาการกลไกต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มีการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันอันจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเน้นให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปมีบทบาทในทุกภาคส่วน

2.การออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการภายในกระทรวงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเรื่องการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็วเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

และ 3.เพื่อให้มีการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเรื่องการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ คณะรัฐมนตรีควรเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ อำนาจหน้าที่ในการบริหารงาน การบริหารงานบุคคล และการจัดสรรทรัพยากรของส่วนราชการให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ชองกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กฎหมายดิจิทัลทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนของสนช. คาดว่าจะมีผลบังคับใช้กลางปีนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมถึงพัฒนานวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ ส่วนกฏหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ มีแนวทางการป้องกันภัยคุกคามต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และคุ้มครองการใช้งานของประชาชน ให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้งานเทคโนโลยีของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้นติดอับดับ 1 ใน 25 ประเทศของโลก จึงจำเป็นต้องมีการออกกฏหมายให้รองรับและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตลอดจนการวางแนวทางการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมด้านไอซีทีโดยภาครัฐหรือร่วมกับเอกชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนที่เหมาะสม

ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล มีเป้าหมายระยะ 20 ปี แบ่งการดำเนินการเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1 การพัฒนาโครงสร้างการให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศด้วยราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ไม่เกิน 2% ของรายได้ต่อหัวประชากร 2. ให้ประชากรทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนบริการภาครัฐสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ 3. พัฒนากำลังคนในวิชาชีพดิจิทัลให้เชี่ยวชาญใช้ประโยชน์ได้จริง และ 4.สร้างความปลอดภัยการใช้งานอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี