posttoday

สตาร์ทอัพเจาะไลฟ์สไตล์รุ่ง แห่ตั้งออฟฟิศที่สิงคโปร์

13 ตุลาคม 2558

มูลค่าการเติบโตในกลุ่มธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพยังโตได้เป็นเท่าตัว หรือ 100% จากความสามารถของคนรุ่นใหม่

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาดโพสต์ทูเดย์

มูลค่าการเติบโตในกลุ่มธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพยังโตได้เป็นเท่าตัว หรือ 100% จากความสามารถของคนรุ่นใหม่ ในการสร้างสรรค์ธุรกิจอย่างเหมาะสม ซึ่งตัวเลขก่อนหน้านี้อาจไม่มีชัดเจนแต่ปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท

สุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริหารผลิตภัณฑ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า เทรนด์ความต้องการด้านเทคโนโลยีรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่จะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมาก

“บริษัทมีแนวความคิดเกี่ยวกับการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน และความพร้อมในการพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่ใช้งานดิจิทัลและช่วยตอบสนองไลฟ์สไตล์ เช่น QueQ ที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเพื่อรองรับการจองคิวให้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวเอง ลดปัญหาการรอคิวร้านอาหารเป็นเวลานาน” สุวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความสามารถของเด็กไทยที่เพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ภาษาอังกฤษและความกล้าแสดงออก ที่เป็นโอกาสในการสื่อสารกับนายทุนรายใหม่ในตลาด ทำให้นักลงทุนต่างชาติยอมรับความสามารถของคนไทยอย่างมาก

ปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาดเอไอเอส กล่าวว่า แนวคิดในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับคนรุ่นใหม่นั้น แบ่งเป็นแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคจอง-ซื้อ-ขายผ่านโลกออนไลน์หรือบริการเฉพาะกลุ่มมากถึง 32% รองลงมาคือ เอนเตอร์เทนเมนต์และไลฟ์สไตล์ 20% และโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ 14% ส่วนบริการที่มาแรงไม่แพ้กันคือช่องทางชำระเงินหรือกลุ่ม Fintech ยิ่งภาครัฐผลักดันให้เกิดกฎหมายดิจิทัลเพื่อรองรับธุรกรรมใหม่

“ภาพรวมผลงานของสตาร์ทอัพ 80% อยู่ในขั้นตอนพัฒนารูปแบบธุรกิจพร้อมต่อยอด และอีก 20% อยู่ในขั้นตอนพัฒนาผลิตภัณฑ์เตรียมพร้อมออกสู่ตลาดและขยายฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งไทยถือว่ามีศักยภาพในการต่อยอดสู่ตลาดสากล และสภาพตลาดทั่วโลกก็เปิดโอกาสให้คนหน้าใหม่ทุกคนเข้าสู่ตลาดมากขึ้น” ปรัธนา กล่าว

ทั้งนี้ พฤติกรรมในการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ถือว่าโดดเด่นมากขึ้น และมีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รองรับเทรนด์ออนไลน์ที่เติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจด้านสตาร์ทอัพเริ่มมีทักษะที่หลากหลายและเป็นที่ยอมรับกับคนในต่างประเทศมากขึ้น

“ด้วยรูปแบบธุรกิจในปัจจุบันถือว่าเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นงานอิสระที่ตรงกับความต้องการ ซึ่งการทำธุรกิจของคนรุ่นเก่าไม่ต่างกับสมัยนี้เรื่องความกล้าในการทำธุรกิจ เพียงแต่คนรุ่นเก่าจะไม่มีเงินทุนที่ชัดเจน ไม่เหมือนคนรุ่นใหม่ที่มีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาให้การสนับสนุน ซึ่งถ้าล้มเร็วก็จะลุกได้เร็วขึ้น” ปรัธนา กล่าว

ธนพงษ์ ณ ระนอง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานบริษัทร่วมทุน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า สตาร์ทอัพไทยมีความคิดที่จะไปตั้งออฟฟิศที่สิงคโปร์เป็นส่วนมาก เพราะกฎหมายเอื้อประโยชน์ในการทำธุรกิจ ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี

“การทำ Capital Gain Tax หรือเสียภาษีจากกำไรจากการขายหุ้นของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งกลายมาเป็นจุดดึงดูดให้ธุรกิจสตาร์ทอัพอยากที่จะไปตั้งออฟฟิศที่ต่างประเทศ แต่ถ้าธุรกิจใดที่ไม่อยากไปตั้งออฟฟิศที่ต่างประเทศก็สามารถทำได้ ซึ่งเงินลงทุนขั้นแรกจะเริ่มต้นที่ 5-10 ล้านบาท เพื่อพัฒนาสินค้าและทดลองตลาดซีรี่ส์เอจะเริ่มต้นทุนที่ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 35 ล้านบาท และซีรี่ส์ต่อไปก็จะแล้วแต่การตกลงกับทางนักลงทุน” ธนพงษ์ กล่าว

ปรัธนา กล่าวเสริมว่า ทีมที่ชนะจะได้เข้าโปรแกรมเร่งรัดทางการตลาดอย่างเร่งด่วนประมาณ 3-6 เดือน เพื่อเตรียมออกสู่ตลาดสากลและแข่งขันกับนานาชาติ ซึ่งทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพตลอดทั้งโครงการมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

“ทีมที่เข้ามาร่วมแข่งขันในปีนี้มีกว่า 300 ทีม ซึ่งเดิมบริษัทต้องลงทุนนวัตกรรมกับทางเวนเดอร์อยู่แล้ว แต่การสนับสนุนให้ทีมสตาร์ทอัพเข้ามาแสดงศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ ถือว่าเป็นการขยายโอกาสในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อส่งออกขายต่างประเทศ และสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคต” ปรัธนา กล่าว

นอกจากนี้ สุวิทย์ ยังแนะนำทีมสตาร์ทอัพว่า ทีมต้องรู้จักศึกษาตลาดภาพรวมในประเทศว่ามีความต้องการสิ่งใดต้องรู้จักคำว่า Job to be done หรือการตอบสนองสิ่งที่คนในประเทศยังขาด จากนั้นต้องต่อยอดในตลาดโลกได้ รวมทั้งพัฒนาให้สามารถทำซ้ำหรือขายแฟรนไชส์ได้ เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพจะต่างกันตรงที่ เอสเอ็มอีจะทำธุรกิจในสิ่งที่ตนสนใจ ส่วนสตาร์ทอัพจะทำในสิ่งที่มีอินโนเวชั่นและต่อยอดได้