posttoday

"ETDA" ผุดไอเดีย อีเมลสัญชาติไทย

11 พฤษภาคม 2558

การใช้อีเมลสัญชาติไทยในการทำงาน เพราะนอกจากจะสื่อสารได้เข้าใจง่ายแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยง

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

การทำระบบอีเมลในรูปแบบภาษาไทย (ยกตัวอย่าง เช่น ยอด@จดหมาย.ไทย) เริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้น หากสามารถพัฒนาและต่อยอดให้เป็นรูปแบบการใช้งานตามความต้องการของทั้งภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการระดมความคิดให้ไอเดียนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในปีหน้านี้

วรรณวิทย์ อาขุบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กล่าวว่า การใช้งานอีเมลสาธารณะเริ่มมีความแพร่หลายมากขึ้น นั่นยิ่งเป็นโอกาสของอาชญากรไซเบอร์ในการเข้าไปแฮ็กข้อมูลและส่งอีเมลหลอกไปยังปลายทาง โดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการใช้อีเมลสัญชาติไทยในการทำงาน เพราะนอกจากจะสื่อสารได้เข้าใจง่ายแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยง เพราะอาชญากรไซเบอร์ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติมากกว่า

“ในประเทศจีนการรับส่งข้อมูลผ่านอีเมลภาษาจีนมีความนิยมอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะหน่วยงานภาครัฐเข้ามาผลักดัน ทั้งด้านงบประมาณและซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการติดต่องานกับทางภาครัฐ คุ้นเคยกับการรับส่งข้อมูลผ่านอีเมลภาษาท้องถิ่นนี้ ทั้งยังเป็นการลดปัญหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการขโมยข้อมูลส่วนตัวผ่านอีเมลสาธารณะได้ ซึ่งตอนนี้ทาง ETDA ได้ร่วมมือกับทางผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อดังในการทำระบบให้รองรับแล้ว ตั้งแต่ปี 2557 คาดว่าภายในปีหน้าจะมีการใช้งานจริง” วรรณวิทย์ กล่าว

ทางด้าน ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ในเชิงการทำธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซหรือซื้อขายออนไลน์ หากสามารถนำอีเมลภาษาไทยมาใช้งานได้จริง ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะจะช่วยให้คนกลุ่มระดับล่างที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาต่างประเทศ สามารถรับส่งข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น

“ต้องยอมรับว่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในตอนนี้ ผู้ขายจะสื่อสารกับลูกค้าผ่านทางแอพแชตอย่าง ไลน์ (LINE) เพราะยังมีบางคนใช้งานอีเมลไม่เป็น ซึ่งในไทยคนกลุ่มนี้มีเยอะมาก ดังนั้น เราต้องสร้างความเข้าใจให้รู้สึกว่าอีเมลใช้งานได้ง่ายและมีประโยชน์ เพราะคนที่มีสมาร์ทโฟนต้องใช้อีเมลเพื่อยืนยันตัวตน ทั้งยังตอบโจทย์การใช้งานบนโลกออนไลน์ได้อย่างมหาศาล หากมีการทำร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนจะเกิดความคุ้นชินก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี” ภาวุธ กล่าว

ทั้งนี้ ในอนาคตเทรนด์ของอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ หรือ IOT จะเข้ามาสู่ชีวิตจริงมากขึ้น หากเราสามารถสั่งงานอุปกรณ์เหล่านี้ผ่านเสียงด้วยภาษาและสำเนียงของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ จะยิ่งช่วยให้มีอุปกรณ์ไอทีเจาะกลุ่มคนไทยมากขึ้น เหมือนอย่างเฟซบุ๊ก ที่มีการอัพเดทภาษาไทยที่ถูกต้องมากขึ้น ยิ่งผลักดันให้คนหันมาใช้งานโซเชียลมีเดียชื่อดังนี้ นอกจากจะเป็นการตอบโจทย์ด้านการรับส่งข้อมูลแล้ว ยังถือว่าสนับสนุนให้คนไทยใช้งานเทคโนโลยีได้เต็มที่ตามนโยบายดิจิทัล อีโคโนมีของภาครัฐด้วย