posttoday

ค้าดิจิทัล"ขยัน-ซื่อสัตย์"รวยเร็ว

21 กันยายน 2557

การเปลี่ยนแปลงเมืองไทยสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัล คงจะเป็นโอกาสสร้างเศรษฐีขึ้นเป็นจำนวนมาก

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

มีเรื่องเล่าว่าประเทศไทยช่วงก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจการเกษตร รัฐบาลหลังสงครามโลกประกาศสนับสนุนให้คนไทยกินไข่เพราะเป็นโปรตีนราคาถูก เมื่อพ่อค้าได้ยินประกาศนั้นก็ลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ จนกิจการเจริญขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่วงการอาหาร ถัดจากนั้นเมื่อเศรษฐกิจไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม มีการตัดถนนหนทางหลายเส้น ก็สร้างเศรษฐีวงการรถยนต์ขึ้นมา พอเศรษฐกิจไทยพัฒนาสู่ภาคบริการก็เกิดยักษ์ใหญ่วงการท่องเที่ยวขึ้นอีกมากมาย

การเปลี่ยนแปลงเมืองไทยสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัล หรือดิจิทัลอีโคโนมีครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน คงจะเป็นโอกาสสร้างเศรษฐีขึ้นเป็นจำนวนมาก เหมือนเศรษฐีไอซีทีทั่วโลก เช่น บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ ที่บุกเบิกคอมพิวเตอร์พีซีให้ใช้งานและจัดเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้น สตีฟ จ็อบส์ ที่แม้จะแพ้การฟ้องร้องเรื่องซอฟต์แวร์แก่ไอบีเอ็ม แต่ก็กลับมาผงาดอีกครั้งเมื่อเจาะตลาดนักฟังเพลงด้วยไอพอด จากนั้นก็ตามมาด้วยไอโฟน ไอแพด รวมถึงเจ้าพ่อโซเชียลมีเดีย มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก

นอกจากการสร้างรายได้จากฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ที่มหาเศรษฐีโลกทำกันแล้ว ยังมีอีกรูปแบบที่สร้างเถ้าแก่ดิจิทัลขึ้นมากมาย นั่นคือการค้าผ่านออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์เปิดให้คนมาค้าขาย หรือเจ้าของสินค้าบริการเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาค้าขายเอง ซึ่งในต่างประเทศก็มี เช่น อะเมซอน อีเบย์ อาลีบาบา ส่วนเมืองไทยก็มีเช่น ตลาดดอทคอม ออฟฟิศเมทดอทคอม ดิลฟิชของสนุกดอทคอม โดย อีคอมเมิร์ซทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 1,000 ล้านบาท และมีอัตราเติบโตที่มากปีละหลายเท่าตัว

ยิ่งมีโมบาย คอมเมิร์ซ (M-Commerce) ซื้อขายผ่านมือถือสะดวกขึ้นอีก ก็ยิ่งเพิ่มให้ช่องทางนี้ฉลุย โดยมีสินค้าที่ขายดีวัดผ่าน อีเบย์ อาทิ สินค้าอุปกรณ์มวยไทย เครื่องรางของขลัง พระเครื่อง เพชรพลอยเครื่องประดับ เครื่องหอม ในขณะที่สินค้าออนไลน์ที่คนไทยนิยมสั่งซื้อมากที่สุด ได้แก่ สินค้าแฟชั่น อุปกรณ์สื่อสาร คอมพิวเตอร์ นาฬิกา และจิวเวลรี่

ดังนั้น เพื่อให้เห็นวิธีปั้นดิจิทัลให้เป็นเงิน จึงขอยกความสำเร็จของเศรษฐีดิจิทัลรายใหญ่ของวงการให้ได้เรียนรู้ Rakuten ยักษ์ อีคอมเมิร์ซไทย ผู้ก่อตั้ง ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เจ้าของเว็บไซต์ตลาดดอทคอม (Tarad.com) ที่บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นอย่างราคูเท็นเข้ามาถือหุ้น 67% หรือมูลค่า 114 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าการทำงานในรูปแบบอีคอมเมิร์ซของทั้งสองฝั่งจะช่วยให้ก้าวไปในเอเชียได้ไม่ยากนัก

“ผมเชื่อมั่นว่าการที่ธุรกิจหน้าใหม่จะก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะอัตราการเติบโตเป็นสิ่งที่ช่วยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการโตสังคมไทยก็ยกระดับขึ้น ช่องว่างระหว่างคนต่างจังหวัดและคนเมืองเปลี่ยนไป กลายเป็นส่วนเติมเต็มให้สังคมและเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ ควรเปลี่ยนการทำงานแบบอะนาล็อกมาเป็นออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเจ้าของธุรกิจควรใส่ใจและวางแผนการทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง” ภาวุธ กล่าว

การเข้ามาสนับสนุนของรัฐถือว่าเป็นโอกาสที่กำลังเปิดสำหรับนักธุรกิจหน้าใหม่ที่ต้องการจับตลาดออนไลน์ เพราะจะมีทั้งซอฟต์แวร์และโซลูชั่นที่พร้อมใช้งาน ดังนั้นจึงมองให้กว้างและไม่จำกัดตลาดแค่ในประเทศเหมือนกับนักธุรกิจรุ่นเก่า แต่วางเป้าหมายให้เติบโตในต่างประเทศเลย เจ้าของธุรกิจหน้าใหม่ควรจริงจังกับการใช้ช่องทางออนไลน์ วางแผนและทำงานด้านนี้อย่างเต็มตัว ไม่ต้องไปกังวลเรื่องปัญหาการโกง เพราะถ้าคุณมีความน่าเชื่อถือ วางระบบและรากฐานของธุรกิจที่ดีพอ รับรองได้ว่าลูกค้าที่มาซื้อสินค้าของคุณก็ต้องเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพแน่นอน

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออฟฟิศเมท ทำธุรกิจประเภทสินค้าเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงานที่ไม่มีหน้าร้านเป็นของตนเอง ขายผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ ขายผ่านระบบแค็ตตาล็อกและรับคำสั่งซื้อทางระบบคอลเซ็นเตอร์ และการขายผ่านระบบออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซบนเว็บไซต์ www.officemate.co.th ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 7 หมื่นองค์กรทั่วประเทศ และขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มทั่วไปผ่านเว็บไซต์ www.trendyday.com เพื่อจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน รวมทั้งสื่อสารและรับความบันเทิงผ่านสังคมออนไลน์ ช่วงปีกว่าที่ผ่านมาออฟฟิศเมทได้ขายหุ้นไปรวมกับออฟฟิศดีโป และบีทูเอสเครือเซ็นทรัลกว่า 75% ทำให้สินทรัพย์ออฟฟิศเมทจากกว่า 1,700 ล้านบาท รายได้ปีละกว่า 3,000 ล้านบาท ขยับเพิ่มเป็นสินทรัพย์กว่า 4,000 ล้านบาท รายได้กว่า 8,000 ล้านบาท

หันมองผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จในช่องทางอีคอมเมิร์ซบ้าง เจคิวอาหารทะเล โอ๋-สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ เจ้าของธุรกิจเจคิวอาหารทะเล ที่สานต่อกิจการส่งอาหารทะเลตามร้านอาหาร มาเป็นการขายและจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ที่สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ

“ก่อนหน้านี้ที่บ้านโอ๋ทำธุรกิจส่งอาหารทะเลให้กับร้านอาหารต่างๆ ในขณะที่ตัว โอ๋เองทำงานบริษัทเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการ ส่งออกในธุรกิจอาหารทะเล และเราก็ได้ เห็นปัญหาของที่บ้านเรื่องการส่งสินค้าเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งส่งวัตถุดิบ ปัญหาการจ่ายเงินล่าช้าสั่งซื้อแบบเครดิต ทำให้ เราลองคิดเอาสองช่องทางนี้มารวมกัน พูด ได้ว่าการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียช่วยให้ ธุรกิจของเราเติบโต เพราะคนไทยนิยมเล่นโซเชียลมีเดีย หากเรามีการสื่อสารกับ ลูกค้าและไม่โกหกจะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่น ซึ่งแค่ 3 ปีขยายสาขาให้บริการเป็น 12 สาขา” สุรีรัตน์ กล่าว

Panicloset ธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์ถือว่าบูมสุดๆ ในโลกออนไลน์ แอ้-ปนิดา ศรีชัย เจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าแบรนด์ Panicloset เล่าถึงจุดเริ่มต้นใช้ช่องทางออนไลน์ทำธุรกิจว่า “เรามองถึงโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากรวมถึงต่างประเทศ ทั้งยังตอบโจทย์ สนองลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ใช้ต้นทุน ที่ต่ำมาก ซึ่งเราเก็บงบส่วนนี้ไปพัฒนาคุณภาพสินค้า หรือสื่อสารการตลาดด้านอื่นเพิ่มได้ เจ้าของธุรกิจหน้าใหม่ที่จะทำสินค้าแฟชั่นออนไลน์ควรจำ 4 คำนี้ คือ 1.Product สินค้าต้องดีมีจุดขาย 2.Price ราคาเหมาะสมกับคุณภาพ 3.Place มีสถานที่ให้ลูกค้าเข้าถึงได้ตลอดเวลา 4.Promotion กลยุทธ์การขายที่ดีปรับตามความเหมาะสม ถ้าอยากประสบความสำเร็จ เราต้องขยันและซื่อสัตย์ต่ออาชีพที่เรากำลังทำ เพราะร้านเสื้อผ้าออนไลน์มีจำนวนมาก”

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ priceza.com เว็บไซต์ค้นหาสินค้า เช็กราคา เปรียบเทียบราคาแห่งแรกของไทย ที่มีบริษัทนักลงทุนจากญี่ปุ่นอย่าง Cyber Agent Venture เข้ามาลงทุนกว่า 20 ล้านบาท ในการเป็นพาร์ตเนอร์และสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตในอาเซียน “ผมมองเห็นโอกาสในตลาดออนไลน์มาจากการศึกษาข้อมูลหลายๆ ด้าน ผมเรียนจบมาทางด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ จึงมีความสนใจในเรื่องไอทีอยู่บ้าง การต่อยอดแนวคิดด้านออนไลน์ ถ้าเราไปจับธุรกิจซ้ำซ้อนกับธุรกิจเดิมที่มีความแข็งแกร่งในตลาดมันยากที่จะสำเร็จ หากลองเสี่ยงไปหาช่องทางใหม่ๆ จะเป็นโอกาสให้สำเร็จได้ดีกว่า ไอเดียเป็นเรื่องสำคัญ การมีทีมช่วยทำด้านอื่นก็สำคัญ ยิ่งภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเชื่อว่าจะทำให้ อีคอมเมิร์ซไทยโต”ธนาวัฒน์ กล่าว

3ยักษ์อีคอมเมิร์ซโลก

อีเบย์ (ebay) เริ่มต้นโดย ปิแอร์ โอมิดดียาร์ เมื่อปี 2538 ความสำเร็จของอีเบย์มาจากเป็นเว็บไซต์เปิดให้ซื้อขายสินค้าและประมูลสินค้า เป็นเสมือนสื่อกลางระหว่างลูกค้าและผู้ขายโดยตรง ทำให้อีเบย์ไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้ที่บริษัท และอีเบย์มีการเก็บข้อมูลสมาชิก เปิดให้ลูกค้าให้คะแนนผู้ขายเพื่อนำไปพัฒนา

อะเมซอน (AMAZON) เว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ก่อตั้งวันที่ 5 ก.ค. 1994 เริ่มแรกเป็นเว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ ก่อนพัฒนาเป็นอีคอมเมิร์ซขายทุกสินค้า มีรายได้สูงถึงปีละ 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โตเฉลี่ย 87%

อาลีบาบา (Alibaba) เว็บไซต์ อีคอมเมิร์ซยักษ์ของจีน ก่อตั้งโดย แจ็ก มา เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 1999 ในเมืองหางโจว บริการธุรกิจออนไลน์สินค้าทุกประเภท บริการชำระเงินออนไลน์ สืบค้นข้อมูล บริการจัดเก็บฐานข้อมูล (คลาวด์ คอมพิวติ้ง) มีพื้นที่ให้พบปะเพื่อร่วมมือทางธุรกิจ