posttoday

World Economic Forum เผย อากาศสุดขั้ว-ข้อมูลเท็จ จุดชนวนวิกฤตโลก

15 มกราคม 2567

ตามรายงานของ World Economic Forum (WEF) ระบุว่า นักวิเคราะห์ความเสี่ยงคาด สภาพอากาศสุดขั้วและข้อมูลเท็จเป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มจุดชนวนวิกฤตการณ์ระดับโลกในอีกสองปีข้างหน้า

แม้สภาพอากาศสุดขั้วจะถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงใหญ่ในปี 2024 แต่ข้อมูลเท็จและการบิดเบือนข้อมูลซึ่งตามมาเป็นอันดับสอง ถูกมองว่าจะกลายเป็นความเสี่ยงระดับโลกที่ทวีความรุนแรงในอีกสองปีข้างหน้า และจะยิ่งรุนแรงในช่วงปีที่มีการเลือกตั้ง

ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา ไปจนถึงอินเดียและเม็กซิโก จะมีการเลือกตั้งในปี 2024 นี้ ส่งผลให้นักธุรกิจและผู้นำทางการเมืองต้องพึ่งพาผลสำรวจและการคาดการณ์ต่างๆ เพื่อประเมินว่าสภาพแวดล้อมทางนโยบายจะเป็นอย่างไรในปี 2025

รายงานยังระบุว่า การเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนข้อมูล อาจส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมของรัฐบาลชุดใหม่ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้ง ซึ่งผลลัพธ์ที่จากข้อมูลเท็จและข้อมูลที่บิดเบือนคือ ความไม่สงบ ซึ่งอาจครอบคลุมตั้งแต่การประท้วงอย่างรุนแรงและอาชญากรรมจากความเกลียดชัง ไปจนถึงการก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า รายงานคาดการณ์ว่าความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นความกังวลอันดับต้นๆ โดยเฉพาะการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ ส่วนความกังวลเรื่องข้อมูลเท็จและข้อมูลที่บิดเบือน รวมถึงผลกระทบด้านลบของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นภัยที่ตามมาในลำดับถัดไป

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ความเสี่ยงคาดการณ์ว่า ทิศทางของโลกในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่ใช่แบบขั้วอำนาจเดียวอีกต่อไป แต่จะเป็นโลกที่มีหลายขั้วอำนาจหรือแตกแยกออกเป็นหลายส่วน โดยประเทศขนาดกลางและใหญ่จะมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของโลกในแต่ละภูมิภาค

ทั้งนี้ ผลการสำรวจของ WEF มาจากความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เช่น โรคระบาด COVID-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมีผลกระทบแบบลูกโซ่และส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง