posttoday

เมื่อการอดนอนอาจมีประโยชน์สำหรับต้านอาการซึมเศร้า

28 พฤศจิกายน 2566

อดนอน หนึ่งในพฤติกรรมทำลายสุขภาพตัวฉกาจ เป็นปัญหาร้ายแรงทั้งสำหรับการดูแลผิวพรรณไปจนคนรักสุขภาพทั้งหลาย เรารู้ดีว่าพิษภัยของการอดนอนเป็นเช่นไร แต่ล่าสุดเริ่มมีการค้นพบว่า การอดนอนอาจสามารถช่วยต้านอาการซึมเศร้าได้ ขึ้นมา

ชั่วชีวิตที่ผ่านมาเราทราบดีว่าการอดนอนไม่ดีต่อร่างกาย ถือเป็นเรื่องที่ทุกท่านอาจเคยได้ยิน พบเห็น หรือประสบมากับตัวไม่มากก็น้อย สามารถพูดได้ว่าการอดนอนเป็นอีกหนึ่งแนวทางการทำลายสุขภาพในระยะยาวและสร้างผลกระทบในหลายด้านที่เราไม่ควรทำ

 

          อย่างไรก็ดีการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในความจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จากความจำเป็นในการใช้ชีวิตหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การทำงาน, ธุระด่วน, อ่านหนังสือเตรียมสอบ, อาการนอนไม่หลับ ฯลฯ หลายครั้งทำให้เราจำเป็นต้องอดนอนและสร้างง่วงหงาวหาวเพลียอย่างช่วยไม่ได้

 

          แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อการอดนอนที่เคยถูกบอกว่าเป็นสิ่งไม่ดีมาตลอดอาจมีผลต้านอาการซึมเศร้า

 

เมื่อการอดนอนอาจมีประโยชน์สำหรับต้านอาการซึมเศร้า

 

ผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากการอดนอน

 

          ก่อนที่หลายท่านจะอยากทดลองทำตามเราคงต้องพูดถึงผลกระทบที่ตามมาจากพฤติกรรมนี้เสียก่อน การอดนอน หรือ พักผ่อนไม่เพียงพอ มาจากการที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้นอนหลับให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย นำไปสู่อาการทางร่างกายที่อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ในที่สุด

 

          เมื่อเรานอนพักผ่อนไม่เพียงพอสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ความรู้สึกง่วงหงาวหาวนอน, ตื่นไม่เต็มตา, สับสน, เหนื่อยล้า, อ่อนเพลีย, ไม่มีสมาธิในชีวิตประจำวัน, อารมณ์แปรปรวน, การตอบสนองช้าลง ไปจนการหลับใน สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่อุบัติเหตุทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง

 

          ที่กล่าวไปข้างต้นคือผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นเมื่ออดนอน สามารถชดเชยได้อย่างรวดเร็วหากกลับมาพักผ่อนอย่างเพียงพอและหายไปได้ในเวลาไม่นาน แต่หากมีการอดนอนจนพักผ่อนไม่เพียงพออย่างต่อเนื่องอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงยิ่งขึ้นจนส่งผลกระทบในระยะยาว

 

          เมื่อเกิดการอดนอนอย่างต่อเนื่องจะนำไปสู่ผิวขาดความกระจ่างใส, ภูมิคุ้มกันอ่อนแอทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย, ระบบเผาผลาญผิดปกตินำไปสู่โรคอ้วน, ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน, เส้นเลือดสมองตีบ, สมองทำงานช้าส่งผลต่อความเข้าใจและการเรียนรู้ ไปจนอาการทางจิตนานาชนิด

 

          นอกจากนี้บางครั้งหลายท่านยังเกิดความเข้าใจผิดว่า เราสามารถอดนอนเพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆ แล้วไปนอนชดเชยเพิ่มเติมภายหลังได้ ในความจริงไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป ในระยะยาวอาจทำให้เกิดการแปรปรวนของตารางเวลาภายในร่างกาย ทำให้ระบบำการทำงานผิดปกตินำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอล และความดันโลหิต

 

          ทั้งหมดคือเรื่องที่หลายท่านทราบมาล่วงหน้า แต่จากนี้เรามาพูดถึงคุณประโยชน์ของการอดนอนกันบ้าง

 

เมื่อการอดนอนอาจมีประโยชน์สำหรับต้านอาการซึมเศร้า

 

เมื่อการอดนอนส่งผลดีต่ออาการซึมเศร้า

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Northwestern University กับการค้นพบว่า การอดนอนไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงลบทางสุขภาพเพียงอย่างเดียว หากมีการอดนอนเฉียบพลันเป็นระยะเวลาหนึ่งคืน อาจส่งผลให้ผู้อดนอนเกิดความกระปรี้กระเปร่า, ร่าเริง, มีความสุข ไปจนมีคุณสมบัติต้านฤทธิ์ซึมเศร้าได้ทีเดียว

 

          ทีมวิจัยไม่ได้ปฏิเสธว่าการอดนอนถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการอดนอนในระยะยาวหรืออาการนอนไม่หลับเรื้อรังที่มีการศึกษาผลกระทบโดยละเอียด แต่นั่นนำไปสู่คำถามสำหรับการอดนอนในระยะสั้น เมื่อบางครั้งนอกจากไม่ได้ส่งผลทางสุขภาพมากนักยังคล้ายเป็นผลดีต่อร่างกาย โดยเฉพาะกับเหล่านักเรียนเตรียมสอบ

 

          เพื่อพิสูจน์ข้อสันนิฐานนี้ทางทีมวิจัยจึงเริ่มทำการทดลอง โดยการนำหนูกลุ่มหนึ่งเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถนอนหลับได้สะดวกแต่ไม่ทำให้เครียดเกินไป หลังจากอดนอนราว 12 ชั่วโมงเมื่อนำหนูกลุ่มนี้มาตรวจสอบโดยละเอียด แม้จะมีอาการสมาธิสั้นจากการนอนไม่พออยู่บ้าง แต่หนูเหล่านี้กลับไม่มีอาการซึมเศร้าแบบเดียวกับหนูที่อดนอนมาหลายวัน

 

           เมื่อทำการตรวจสอบโดยละเอียดจึงพบว่า สมองของหนูที่อดนอนเหล่านี้มีปริมาณโดปามีนเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดกระบวนการ Synaptic plasticity ภายในเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า ส่งผลให้สมองของหนูตัวดังกล่าวมีปริมาณโดปามีนและสามารถได้รับการกระตุ้นจากโดปามีนได้ง่ายดายขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกลไกต่อต้านการซึมเศร้า

 

          ทางนักวิจัยยังคงไม่เข้าใจว่าเหตุใดกระบวนการเหล่านี้จึงเกิดขึ้นเมื่อเราทำการอดนอน อีกทั้งยังจำกัดแค่ระดับการอดนอนเพียงคืนเดียว แต่พวกเขาคาดเดาว่าอาจเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ การไม่สามารถนอนหลับได้อาจหมายถึงมีอันตรายบางรูปแบบเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้สมองจึงเร่งระดับการทำงานขึ้นชั่วคราวช่วยเร่งประสาทสัมผัสให้ตอบสนองต่อภัยคุกคามหรือผู้ล่าได้ทันท่วงที การตื่นตัวนี้จะเพิ่มโอกาสมีชีวิตรอดของสัตว์ชนิดนั้นให้มากขึ้น

 

          นี่ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่อาจมีผลต่อการวิจัยรักษาโรคความผิดปกติทางอารมณ์ เพราะปัจจุบันยารักษาทางจิตเวชและต้านซึมเศร้าทุกชนิดต้องอาศัยเวลาหลายอาทิตย์จึงเริ่มออกฤทธิ์ ไม่มียาที่สามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างปัจจุบันทันด่วน การรักษาผู้ป่วยหรือประคองอาการจึงเป็นเรื่องยากแม้จะเข้ารับการรักษาแล้วก็ตาม

 

          แต่หากเราทำการศึกษาวิจัยกลไกการทำงานของสมองในช่วงเวลาอดนอนนี้ได้สำเร็จ อาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในสาขาเภสัชศาสตร์ที่สามารถเร่งการทำงานของยาต้านซึมเศร้าทั้งหลาย และช่วยพัฒนาการรักษาโรคทางจิตเวชหรือความผิดปกติทางอารมณ์ต่อไปในอนาคต

 

 

 

          อย่างไรก็ตามการวิจัยนี้เกิดขึ้นเพื่อทดสอบการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นเมื่ออดนอนเป็นหลัก ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าหรือใครก็ตามทดลองอดนอนเพื่อแก้ไขอาการของตัวเอง เพราะอย่างไรการนอนให้เต็มอิ่มก็ถือเป็นปัจจัยที่ช่วยรักษาสุขภาพได้ดีที่สุด

 

          เพราะคงไม่มีอะไรวิเศษไปกว่าการได้นอนหลับสบายตอนที่เราง่วงอีกแล้ว

 

 

          ที่มา

 

          https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/sleep-deprivation

 

          https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/disease-treatment/effects-of-sleep-deprivation

 

          https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/sleep-deprivation

 

          https://newatlas.com/health-wellbeing/antidepressant-effect-sleep-deprivation-dopamine/

         

          https://interestingengineering.com/science/just-one-sleepless-night-can-fight-depression-for-days-claims-study