posttoday

ประเทศสมาชิกวอนสหภาพยุโรป เตรียมแผนรับมือด้านสุขภาพจาก Climate Change

21 พฤศจิกายน 2566

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปวอนทางสหภาพหาแนวทางรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงภาวะโลกร้อนที่ทำให้พาหะนำโรคแพร่กระจายได้ไวกว่าเดิม

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ส่งผลให้ประชากรในยุโรปต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง ซึ่งคาดว่าช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนกว่า 61,000 ราย และเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ว่าแนวทางดำเนินงานและรับมือของทางการยังไม่เพียงพอ

ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป 20 ประเทศจาก 27 ได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปยกระดับการเฝ้าระวังภัยคุกคามจากสภาพอากาสุดขั้วที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบสาธารณสุข เพื่อเป็นแนวทางให้ประเทศต่างๆ เตรียมพร้อมรับมือ

ในแถลงการร่วมระบุว่า สหภาพยุโรปควรร่างแผนเพื่อรับมือโรคระบาด – โรคติดต่อนำโดยพาหะจากสัตว์สู่คนซึ่งสืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน พร้อมยกระดับการเตือนภัยล่วงหน้าและการรับมือหากตรวจพบพาหะที่แพร่กระจายโรค

“หากเรายังขาดมาตรการเชิงรุก โรคติดเชื้อที่สามารถป้องกันได้จะแพร่กระจายมากขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ และกลายเป็นโรคอุบัติที่พบบ่อยขึ้นในสหภาพยุโรป” แถลงการระบุ

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ได้เพิ่มความเสี่ยงที่โรคติดเชื้อจะแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใหม่ๆ  ซึ่งรวมถึงในยุโรป เนื่องจากอุณหภูมิในฤดูร้อนที่ระอุมากขึ้นและกินเวลานานกว่าเดิม รวมถึงการเกิดอุทกภัยที่บ่อยขึ้น ยิ่งเพิ่มโอกาสให้โรคติดเชื้อแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ยุงลายเสือ ที่แพร่กระจายไปแล้วกว่า 337 ภูมิภาคในยุโรป ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลา 10 ปีก่อน

ทั้งนี้ รัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศในสหภาพยุโรปจะหารือถึงประเด็นดังกล่าวในการประชุมสัปดาห์หน้า ขณะที่สหภาพยุโรปกำลังร่างแบบประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นพื้นฐานการกำหนดนโยบายในการรับมือกับภัยที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ