posttoday

UN คาด ปี 2030 สัดส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงแค่ 2%

15 พฤศจิกายน 2566

รายงานจากองค์การสหประชาชาติเผย แนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรัฐบาลของแต่ละประเทศยังไร้ความคืบหน้า และไม่เพียงพอต่อการรับมือผลกระทบวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change)

รายงานฉบับดังกล่าวถูกเผยแพร่ก่อนการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศประจำปีของสหประชาชาติ หรือ COP28 จะเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งภายในการประชุมดังกล่าว ผู้นำระดับโลกของแต่ละประเทศจะร่วมหารือและผลักดันการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแนวทางยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก่อนปี 2050

ทางด้าน สุลต่าน อัล-จาเบอร์ CEO บริษัทน้ำมันเจ้าใหญ่ของ UAE ในฐานะประธานการประชุม COP 28 ระบุว่า “การประชุม COP28 ที่จะเกิดขึ้น จะต้องเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในทศวรรษนี้”

ภายใต้แผนสภาพภูมิอากาศระดับชาติในปัจจุบัน หรือที่รู้จักในชื่อ ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด‘  (Nationally Defined Contributions :NDCs) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญเพื่อบรรลุข้อตกลงปารีส แต่รายงานพบว่า ภายในสิ้นทศวรรษนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้น 9% เหนือระดับในปี 2010 แม้แผน NDCs จะถูกดำเนินการอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม

รายงานดังกล่าวเสริมว่า ภายในปี 2030 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงแค่ 2% ซึ่งต่ำกว่าระดับในปี 2019 และเป็นสิ่งชี้ให้เห็นว่าระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกจะแตะจุดสูงสุดในทศวรรษนี้

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า เราจำเป็นต้องจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส จึงจะสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate change ได้ 

แต่การดำเนินงานของประเทศต่างๆ ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ราว 43% เมื่อเทียบกับระดับในปี 2019

Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ความมุ่งมั่นของแต่ละประเทศเริ่มชะงัก  และแผนสภาพภูมิอากาศระดับชาติไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ จนถึงตอนนี้ ช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างความต้องการกับแนวทางปฏิบัติเป็นไปในทิศทางที่ไม่น่าประทับใจ

การวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาดซึ่งมีฐานตั้งอยู่ในเฮลซิงกิ พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนมีแนวโน้มลดลงในช่วงต้นปีหน้า โดยส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากพลังงานหมุนเวียนที่ถูกนำมาใช้มากขึ้น

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของจีนและสหรัฐอเมริกา นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศโลก เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นภูมิภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลก