posttoday

หวั่นเงินกู้อุตสาหกรรมไฮเทคจีนก่อสงครามการส่งออกสินค้าราคาถูก

14 พฤศจิกายน 2566

จีนพร้อมปล่อยสินเชื่อเพื่อยกระดับการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงตั้งแต่เซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เกิดความกังวลว่ามูลค่าส่งออกอาจลดลงจากการผลิตที่มากเกินความจำเป็น

ข้อมูลการให้กู้ยืมจากธนาคารกลางของจีน ณ สิ้นเดือนกันยายน เผยให้เห็นถึงลำดับความสำคัญของทางการจีน โดยระบุว่า ยอดหนี้คงค้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เคยประสบปัญหา ลดลง 0.2%  เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่การให้กู้ยืมแก่ภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 38.2%

นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า การลงทุนในรอบนี้แตกต่างจากการลงทุนในรอบอื่นๆ ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ในจีนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดสงครามทางการค้า และผลักให้หลายบริษัทต้องถอนตัวออกจากธุรกิจนี้ 

นอกจากนี้ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ยังส่งผลให้คู้ค้าบางรายเกิดความกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปที่กำลังสอบสวนเรื่องเงินอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนอยู่

Jens Eskelund ประธานหอการค้ายุโรปในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า “ปัจจุบันอัตราการบริโภคในจีนอยู่ในช่วงขาลง แต่ผลิตภัณฑ์จากกำลังการผลิตที่มากเกินความจำเป็นกำลังส่งออกไปทั่วโลก ทั้งแบตเตอรี่ แผงโซลาร์เซลล์ และเคมีภัณฑ์ต่างๆ สถานการณ์ระหว่างยุโรปกับจีนในตอนนี้ ไม่ต่างอะไรจากรถไฟสองขบวนที่กำลังจะชนกัน ”

อย่างไรก็ตาม นโยบายอุตสาหกรรมของจีนจะเป็นหนึ่งในวาระการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC) ในสัปดาห์นี้ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนจะได้พบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ

รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พยายามผลักดันให้จีนเป็นแหล่งผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ กังหันลมผลิตไฟฟ้า วัสดุสำหรับภาคการบินและอวกาศ

ทั้งนี้ นักวิจารณ์ให้ความเห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยเพิ่มอัตราการบริโภคในประเทศ ลดการส่งออก  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้จีนเติบโตได้

ภาคการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง

สำหรับเป้าหมายผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ 5 ปีของจีน ฉบับที่ 14 โดยทางการได้เปลี่ยนทิศทางการลงทุนจากภาคอสังหาริมทรัพย์ไปที่ภาคการผลิต เพื่อผลักดันขีดความสามารถของอุตสาหกรรม ขณะที่ นักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์ของตลาดโลกตอนนี้ไม่ได้อยู่ในจุดพร้อมรับสินค้าที่ถูกผลิตมาเกินความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า การลงทุนในภาคการผลิตเทคโนโลยีระดับสูง ยังแซงหน้าการลงทุนในภาคอื่นๆ โดยเพิ่มขึ้น 11.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2023 

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ของ Reuters พบว่าทางการจีนรวมถึงในระดับท้องถิ่นได้เพิ่มสัดส่วนสินเชื่อตามนโยบายรัฐไปกับการพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง และกลยุทธ์อุตสาหกรรม

ตัวอย่างเช่น ในมณฑลกวางตุ้งได้เพิ่มอัตราการปล่อยสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงถึง 45% ขณะที่ช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ยอดสินเชื่อคงค้างของภาคการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงในมณฑลซานตงเพิ่มขึ้น 67%

อัตราการผลิตที่มากเกินความจำเป็น

Duo Fu รองประธานของบริษัทวิจัย Rystad Energy ระบุว่า ด้วยอัตราการผลิตของจีน คาดว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนทั่วโลกได้ในเร็วๆ นี้ 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการซื้อสินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภคของประชาชนจีน โดยข้อมูลของธนาคารโลกเผยว่า  ปี 2021 อัตราการบริโภคของภาคครัวเรือนคิดเป็น 38% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่  55%

ทางฝั่งนักเศรษฐศาสตร์จาก Industrial Bank ให้ความเห็นว่า การลงทุนในภาคการผลิตขั้นสูงอาจมีประโยชน์สำหรับจีนโดยตรง เนื่องจากจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว และขับเคลื่อนการพัฒนาทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ สำหรับเศรษฐกิจโลก การผลิตของจีนจะมีส่วนช่วยลดอัตราเงินเฟ้อได้

แม้ต้องเสียส่วนแบ่งการตลาดจากการส่งออก แต่การเพิ่มอัตราการผลิตของจีนจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อในตลาดโลกลดลง

ทั้งนี้ ความตึงเครียดทางการค้ายังเป็นข้อกังวลหลักสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งในระยะยาวจีนจำเป็นต้องปรับตัว และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดหากบริษัทบางแห่งต้องถอนตัวออกจากธุรกิจนี้