posttoday

อินโดนีเซียหวังจับมือสหรัฐฯ พัฒนาแร่ผลิตแบตรถยนต์ไฟฟ้า

13 พฤศจิกายน 2566

สหรัฐอเมริกา-อินโดนีเซียเล็งพัฒนาความร่วมมือ กระตุ้นการค้าแร่นิกเกิลและโลหะเพื่อผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียจะเยือนทำเนียบขาวเพื่อพบกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ในวันจันทร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับการค้าที่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารของไบเดนยังกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในอินโดนีเซีย โดยอยู่ในระหว่างพิจารณาว่าข้อตกลงนี้สามารถดำเนินการไปในทิศทางใดได้บ้าง นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารยังวางแผนหารือเพิ่มเติมกับฝ่ายนิติบัญญัติและกลุ่มแรงงานของสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า 

ตั้งแต่เดือนกันยายน อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีแร่นิกเกิลมากที่สุดในโลก ได้ขอให้สหรัฐฯ เริ่มหารือเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าแร่ต่างๆ  เพื่อให้การส่งออกจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ภายใต้ร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเพื่อการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ต่อสู้กับวิกฤตโลกร้อนของสหรัฐฯ

ส่วนใหญ่นิกเกิลของอินโดนีเซียมักถูกแปรรูปเป็นโลหะดิบ แต่รัฐบาลต้องการผลักดันห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อให้แร่นิกเกิลที่เหลือใช้จำนวนมหาศาลสามารถนำไปแปรรูปเพื่อผลิตแบตเตอร์รี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าได้

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ฝ่ายบริหารของไบเดน กำลังอยู่ในระหว่างหารือว่าการใช้แร่นิกเกิลมาเป็นวัสดุในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือก่อน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

อินโดนีเซีย แม้จะเป็นแหล่งนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่การทำเหมืองนิกเกิลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการรุกพื้นที่ป่า และมลพิษทางน้ำ

ภายใต้แนวทางปฏิบัติของกฎหมายสหรัฐฯ ที่ออกในเดือนมีนาคม สหรัฐฯ กำหนดว่าวัสดุที่ใช้สำหรับผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าต้องผลิตหรือประกอบในอเมริกาเหนือ หรือมีแค่พันธมิตรทางการค้าเท่านั้นที่สามารถทำได้ และมีสิทธิ์ได้รับเงินลดหย่อนภาษี ซึ่ง อินโดนีเซียยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ประมาณการมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมนิกเกิลทั่วโลกอยู่ที่ 33.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 แม้สินค้าจะมีมากเกินความต้องการซื้อ

ขณะที่เหมืองนิกเกิลแห่งเดียวในสหรัฐฯ กำลังจะปิดตัวลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯไม่มีโรงถลุงแร่นิกเกิลอีกต่อไป และเป้าหมายของไบเดนอาจต้องเผชิญความเสี่ยงในการทำให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า