posttoday

มิติใหม่แห่งการวินิจฉัยโรค การตรวจเบาหวานผ่านสมาร์ทโฟน

03 พฤศจิกายน 2566

เชื่อว่าหลายท่านต้องเคยผ่านการเจาะเลือดเพื่อตรวจโรคเบาหวานกันมาบ้าง แม้จะเป็นเรื่องจำเป็นต่อสุขภาพ แต่เลี่ยงไม่ได้ที่การตรวจนี้อาจให้ความรู้สึกยุ่งยาก แต่จะเป็นอย่างไรหากเราสามารถใช้เพียง เสียงพูดไม่กี่วินาทีมาตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานผ่านสมาร์ทโฟน ได้

เบาหวานคือโรคที่หลายท่านคงรู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยนี่ถือเป็นโรคยอดฮิตที่สามารถพบเห็นผู้ป่วยได้ทั่วไป กับจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกที่มีกว่า 537 ล้านราย ส่วนในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยอยู่ที่ 3.3 ล้านราย คิดเป็นอัตราส่วนราว 3.5% ของประชากรในประเทศ และมีอัตราการขยายตัวของผู้ป่วยรายใหม่กว่า 3 แสนราย/ปี

 

          ความน่ากลัวของโรคเบาหวานคือ นอกจากส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนนานาชนิด ตั้งแต่โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, ความดันโลหิต หรือกระทั่งไตวาย ทำให้การค้นพบและเฝ้าระวังแต่เนิ่นๆ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

          ล่าสุดมีการพัฒนาการตรวจเบาหวานผ่านสมาร์ทโฟนขึ้นมาก็จริง แต่คงต้องพูดถึงวิธีตรวจเบาหวานในปัจจุบันกันเสียหน่อย

 

มิติใหม่แห่งการวินิจฉัยโรค การตรวจเบาหวานผ่านสมาร์ทโฟน

 

รูปแบบการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานในปัจจุบัน

 

          เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยผ่านการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานกันไม่มากก็น้อย ด้วยอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วย ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของสังคมในปัจจุบันหลายท่านเองก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การตรวจเบาหวานจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี

 

          ด้วยพื้นฐานของโรคเบาหวานที่มาจากการควบคุมน้ำตาลผิดปกติจนระดับน้ำตาลในเลือดสูง การตรวจวินิจฉัยในปัจจุบันจึงมักทำตรวจสอบด้วยการเจาะเลือด โดยรูปแบบที่ทุกท่านคุ้นเคยกันดีคือ การงดอาหารไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงจากนั้นจึงทำการเจาะเลือดเพื่อเข้ารับการตรวจ โดยระดับน้ำตาลที่เป็นอันตรายคือตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

 

          ในกรณีที่ไม่สะดวกอดอาหารหรือมีสัญญาณของโรคออกมาให้เห็น เราก็สามารถเข้ารับการตรวจเบาหวานโดยไม่ต้องอดอาหารได้เช่นกัน โดยวิธีนี้หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป และมีอาการของโรคแสดงให้เห็นชัด ก็จะถูกจัดเป็นกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน

 

          นอกจากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยตรงแล้ว การวินิจฉัยเบาหวานยังสามารถทำได้โดยการตรวจน้ำตาลสะสม Hemoglobin A1C(HbA1c) หากตรวจพบค่านี้ตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไป รวมถึงสามารถทำการวินิจฉัยผ่านการตอบสนองของอินซูลินต่อระดับน้ำตาลในเลือด ล้วนเป็นกรรมวิธีที่ใช้วินิจฉัยโรคได้ทั้งสิ้น

 

          อย่างไรก็ตามกระบวนการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานที่กล่าวไปข้างต้น ล้วนจำเป็นต้องมีการเจาะเลือดซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่มีความยุ่งยากสูง รวมถึงยังต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ไปจนเครื่องมือเฉพาะทางในการวิเคราะห์อ่านค่า นี่จึงเป็นแนวทางที่ไม่สะดวกทั้งต่อตัวผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่เอง

 

          แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อเราสามารถตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานได้ผ่านสมาร์ทโฟน

 

มิติใหม่แห่งการวินิจฉัยโรค การตรวจเบาหวานผ่านสมาร์ทโฟน

 

การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานผ่านเสียงที่ประเมินผลใน 10 วินาที

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Klick Labs กับการพัฒนาแอปพลิเคชันชนิดใหม่ อาศัยการทำงานและประมวลผลจาก AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้ในการตรวจสอบผู้ป่วยเบาหวานผ่านทางเสียง โดยอาศัยเพียงเสียงพูดจากผู้เข้ารับการตรวจเพียง 6 – 10 วินาที

 

          แนวคิดนี้อาศัยประโยชน์จากความแตกต่างของระบบบันทึกเสียงของสมาร์ทโฟน โดยทีมวิจัยจะรวบรวมข้อมูลเสียงบันทึกความยาวประมาณ 6 – 10 วินาที เป็นจำนวนมากกว่า 18,465 ตัวอย่าง จากนั้นจึงนำเสียงเหล่านี้ไปวิเคราะห์แยกรายละเอียด นำไปสู่หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการแยกผู้ป่วยเบาประเภทที่ 2 ออกจากคนทั่วไปได้สำเร็จ

 

           ระบบการทำงานของแอปพลิเคชันนั้นเรียบง่าย ในกรณีที่ต้องการทดสอบเพียงกรอกข้อมูลพื้นฐานอย่าง เพศ, อายุ, ส่วนสูง และน้ำหนัก แล้วเริ่มทำการบันทึกเสียงตามช่วงเวลาที่กำหนดเพียงไม่กี่วินาที จากนั้นเสียงที่บันทึกจะถูกนำไปวิเคราะห์ประมวลผลแล้วจึงแจ้งผลลัพธ์กลับมาได้ในเวลาอันสั้น

 

          จากการทดลองใช้ในหมู่อาสาสมัครราว 267 คน พบว่า แอปพลิเคชันนี้มีความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยเบาหวานประเภทที่ 2 สูงราว 86% ในเพศชาย และ 89% สำหรับเพศหญิง ถือเป็นตัวเลขความแม่นยำทางสถิติที่สูงกว่าการอดอาหารตรวจเลือดแบบเดิมที่มี่ค่าเฉลี่ยนความแม่นยำอยู่ที่ 85% เสียอีก

 

          จุดเด่นสำคัญของระบบตรวจเบาหวานผ่านเสียงในสมาร์ทโฟนนี้คือ ความสะดวกใช้งานง่าย ไม่ต้องอดอาหารให้ยุ่งยาก ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางน่าเบื่อหน่าย รวมถึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเข้ารับการตรวจ เพียงบันทึกเสียงบนสมาร์ทโฟนก็สามารถตรวจสอบอาการของเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ทันที

 

          นี่จึงถือเป็นวิธีตรวจโรครูปแบบใหม่ที่มีความสะดวกและคล่องตัวขึ้นมาก ไม่ต้องรอผลตรวจเลือดเป็นเวลานานช่วยให้ผู้ป่วยรู้ตัวและเข้ารับการรักษารวดเร็วยิ่งขึ้น เพิ่มความสะดวกในการคัดกรองผู้ป่วย รวมถึงลดภาระเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ให้ไม่ต้องง่วนอยู่กับการตรวจเลือดอีก

 

          นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่อาจพลิกโฉมหน้าการตรวจสุขภาพของโลกได้ทีเดียว

 

 

 

          จริงอยู่จำนวนอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดสอบยังมีน้อย จำเป็นต้องได้รับการทดสอบเพื่อเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่าง แต่หากเทคโนโลยีนี้ได้รับการคิดค้นออกมาสำเร็จอาจไม่จบแค่เบาหวาน เพราะทางทีมวิจัยมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบนี้ให้ใช้ในการตรวจโรคชนิดอื่นต่อไปในอนาคต

 

          ไม่แน่ว่าสักวันการตรวจสุขภาพอาจไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดแต่ใช้เพียงเสียงบันทึกของเราก็เป็นได้

 

 

 

          ที่มา

 

          https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/181256/

 

          https://dmthai.org/old/index.php/knowledge/understand-diabetes/diabetes-2/498-diabetes-and-risk

 

          https://www.klick.com/news/ai-and-10-seconds-of-voice-can-screen-for-diabetes-new-study-in-mayo-clinic

 

          https://newatlas.com/medical/10-second-voice-test-type-2-diabetes/