posttoday

การบำบัดด้วยไฟฟ้ารูปแบบใหม่ รับมือมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงอายุ

27 ตุลาคม 2566

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย อีกหนึ่งโรคน่าหนักใจในบรรดาผู้สูงอายุ กับการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อที่สร้างผลกระทบทางสุขภาพในหลายด้านกลับยังไม่มีแนวทางรักษาแน่ชัด แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมี การบำบัดด้วยไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ที่ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อได้

เมื่อคนเราแก่ตัวลงเซลล์ในร่างกายย่อมเสื่อมสภาพตามไปอย่างช่วยไม่ได้ โรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดก็จะเริ่มทยอยถามหาตามจำนวนอายุที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่ปัญหาสุขภาพนานาชนิด ถือเป็นปัญหาสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป

 

         ในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดที่เกิดขึ้น หนึ่งในโรคที่สร้างปัญหาไม่แพ้กันคือ ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย แม้จะไม่ได้สร้างผลกระทบทางสุขภาพร้ายแรงหรือเป็นสาเหตุให้ถึงแก่ชีวิตโดยตรง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นปัญหาทางสุขภาพระยะยาวหลายรูปแบบให้แก่ชีวิตของผู้สูงวัย

 

         วันนี้เราจึงจะมาพูดถึงภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย และปัญหาที่คนสูงอายุต้องประสบกันเสียหน่อย

 

การบำบัดด้วยไฟฟ้ารูปแบบใหม่ รับมือมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงอายุ

 

มวลกล้ามเนื้อน้อย อีกหนึ่งโรคที่สร้างความลำบากในชีวิต

 

         โรคมวลกล้ามเนื้อน้อย คือ ภาวะการลดลงของปริมาณและตวามแข็งแรงของกล้ามเนื้อในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางกายทำให้ร่างกายอ่อนแอลง  เป็นอาการที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับช่วงวัย สามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 40 ปี เห็นผลชัดตั้งแต่ช่วงอายุ 50 ปีเป็นต้นไป และจะเริ่มมีผลกระทบอย่างรุนแรงนับแต่อายุ 65 ปี

 

         แนวโน้มของผู้ป่วยมวลกล้ามเนื้อน้อยทั่วโลกมีอัตราการขยายตัวด้วยการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ จากการเก็บข้อมูลในประเทศไทยพบว่าผู้สูงอายุกว่า 33% มีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ ทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่สามารถเร่งผลกระทบจากภาวะนี้ให้เร็วยิ่งขึ้น เช่น อาการแทรกซ้อนหรือโรคประจำตัวบางชนิด

 

         อาการของผู้ที่ประสบภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยคือ การลุกนั่งจะทำได้ลำบากขึ้น, ทรงตัวได้ไม่ดี, หกล้มบ่อยและง่ายขึ้น, น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ไปจนเหนื่อยง่าย ฟังดูคล้ายอาการที่เกิดกับผู้สูงอายุทั่วไป แต่ในกรณีร้ายแรงอาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

         โดยพื้นฐานภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยฟังดูไม่เป็นอันตราย แต่อาการนี้สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของโรคภัยหลายชนิด ตั้งแต่โรคซึมเศร้าจากการไม่สามารถใช้ชีวิตได้ดังเดิม, กระดูกเปราะหักง่ายเพราะไม่มีกล้ามเนื้อในการรองรับ, เพิ่มความเสี่ยงบาดเจ็บและพิการในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยตรง

 

         ร้ายแรงกว่านั้นคือปัจจุบันยังไม่มีแนวทางรักษาเป็นรูปธรรม ทำได้เพียงหมั่นดูแลตัวเองรักษาสุขภาพเพื่อชะลออาการเป็นหลัก ลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะก่อโรค รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไปจนออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทดแทนเท่านั้น

 

         แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อเริ่มมีการบำบัดด้วยไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อจากมวลกล้ามเนื้อน้อย

 

การบำบัดด้วยไฟฟ้ารูปแบบใหม่ รับมือมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงอายุ

 

การบำบัดด้วยไฟฟ้าเพื่อฟื้นฟูมวลกล้ามเนื้อน้อย

 

         ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Daegu Gyeongbuk Institute of Science and Technology แห่งเกาหลีใต้ กับการพัฒนาระบบการบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่เสื่อมสภาพจากภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย อาจนำไปสู่แนวทางรักษาโรคนี้อย่างเป็นรูปธรรม

 

         การพัฒนาแนวทางรักษารูปแบบใหม่นี้ เกิดขึ้นจากการขยายตัวของจำนวนผู้ป่วยมวลกล้ามเนื้อน้อยที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาก โดยมีสาเหตุมาจากทั้งการขยายตัวของสังคมสูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้น ไปจนสถานการณ์ระบาดของโควิดบังคับคนให้ใช้ชีวิตภายในบ้าน การขยายตัวของจำนวนผู้ป่วยนี้เองเป็นเหตุให้ต้องคิดหาแนวทางรับมืออย่างเร่งด่วน

 

         แนวทางรักษาที่พวกเขาคิดค้นจะเริ่มต้นจาก เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า เดิมเป็นกลไกสำหรับใช้ในการกายภาพบำบัดหรือตรวจสอบการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แต่เมื่อนำมาติดตั้งข้อมูลที่กำหนด จะมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อได้เช่นกัน

 

         ตัวระบบจะเริ่มจากตรวจสอบอาการความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อมวลกล้ามเนื้อ จากนั้นเมื่อตรวจสอบเสร็จสิ้นจะเริ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าโดยมีการปรับสัญญาณและแรงดันไฟฟ้าให้เข้ากับบุคคลนั้นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อการทำงานของแคลเซียม การเผาผลาญ และการฟื้นฟูกล้ามเนื้อภายในร่างกายให้กลับมาทำงานอีกครั้ง

 

         จากการทดสอบใช้งานกับหนูอายุมาก พวกเขาพบว่าหนูที่ได้รับการกระตุ้นด้วยอุปกรณ์ชิ้นนี้มีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อที่มีอยู่ได้รับการฟื้นฟูจนกลับมาทำงานได้ดีกว่าเดิม รวมถึงยังสามารถฟื้นฟูมวลกล้ามเนื้อที่เคยสูญเสียไปให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง จึงอาจเป็นแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อการรับมือโรคนี้

 

         จุดเด่นของการรักษารูปแบบนี้คือ เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ตามสถานพยาบาลไปจนบ้านเรือนทั่วไปและมีราคาไม่สูงนัก หากได้รับการตั้งค่าระบบอย่างถูกต้อง นี่จะถือเป็นอุปกรณ์ฟื้นฟูกล้ามเนื้อชิ้นสำคัญ ที่ช่วยพิชิตปัญหามวลกล้ามเนื้อน้อยที่พบได้ทั่วไปในหมู่ผู้สูงอายุได้ไม่ยาก

 

 

 

 

         อย่างไรก็ตามแนวทางรักษานี้ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าวิจัย จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมรวมถึงการทดลองทางคลินิก เพื่อตรวจสอบผลกระทบต่อการใช้งานในระยะยาว อย่างไรก็ตามเมื่อประเมินว่านี่เป็นการดัดแปลงจากอุปกรณ์ที่มีการใช้งานทั่วไป จึงน่าจะได้รับการผลักดันให้ใช้งานจริงในไม่ช้า

 

         ก็ได้แต่คาดหวังว่าการวิจัยนี้จะประสบความสำเร็จและสามารถช่วยผู้ป่วยมวลกล้ามเนื้อน้อยในเร็ววัน

 

 

 

         ที่มา

 

         https://healthyelderly.md.chula.ac.th/articles/sarcopenia-elderlychula/

 

         https://www.bangkokhospital.com/content/muscle-wasting-in-the-elderly

 

         https://www.asiaresearchnews.com/content/team-led-professor-minseok-kim-dgist-has-developed-world%E2%80%99s-first-bioelectronic-medicine

 

         https://newatlas.com/medical/electrical-therapy-rebuilds-wasted-muscles/