posttoday

สงครามอิสราเอล-ฮามาสทดสอบอิทธิพลในตะวันออกกลางระหว่างสหรัฐ-จีน

17 ตุลาคม 2566

วิกฤตการณ์ล่าสุดในตะวันออกกลาง ที่เกิดจากการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส กำลังกลายเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของภูมิรัฐศาสตร์การแข่งขันของมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน ในการสร้างอิทธิพลในภูมิภาค ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกครอบงำโดยสหรัฐฯ

สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นมหาอำนาจทางการทหารที่แข็งแกร่งและมีบทบาทมากที่สุดในตะวันออกกลาง นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะมีความพยายามจากหลายชาติอาหรับที่จะลดบทบาทของสหรัฐลง และหันไปผูกสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆนอกภูมิภาค โดยเฉพาะกับจีน

เนื่องจากบทบาททางเศรษฐกิจของจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และตอนนี้มีการค้าขายกับประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่มากกว่าสหรัฐฯ แต่สหรัฐก็ยังคงมีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ และยังคงเป็นพันธมิตรหลักของอิสราเอลอย่างเหนียวแน่น ส่งผลให้พื้นที่ตะวันออกกลาง กลายเป็นหนึ่งในสมรภูมิด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการเป็นแหล่งผลประโยชน์ด้านพลังงานฟอสซิล ที่จะยังคงครอบงำเศรษฐกิจโลกต่อไปอีกหลายปี

ตะวันออกกลางมีความสำคัญต่อสหรัฐอเมริกามายาวนาน เพราะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น พื้นที่นี้ยังเป็นจุดสำคัญในการการขัดขวางอิทธิพลของอดีตสหภาพโซเวียต หรือปัจจุบันคือรัสเซีย และอิหร่าน รวมถึงการต่อต้านการก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ความสนใจของสหรัฐฯ ในการเข้ามามีบทบาทโดยตรงในการแก้ไขความขัดแย้งในภูมิภาคได้ลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากการลุกฮือในปี 2010 ที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่ออาหรับสปริง แม้สหรัฐอเมริกาจะมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ 

สหรัฐเป็นประเทศแรกที่ยอมรับอิสราเอลในฐานะประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยในปี 1948 หลังจากนั้น สหรัฐฯ พยายามไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างชาติอาหรับ-อิสราเอล ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่จากการที่สหรัฐฯ ได้ปกป้องอิสราเอลอย่างแข็งขัน เนื่องจากอิทธิพลของกลุ่มชาวยิวในบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการทูตเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้ง

โดยสหรัฐอเมริกาได้ใช้อำนาจยับยั้งในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อขัดขวางมติที่ประณามอิสราเอลต่อความรุนแรงที่กระทำต่อชาวปาเลสไตน์หลายสิบครั้ง เนื่องจากมองว่าสหประชาชาติเป็นเวทีที่มีอคติต่ออิสราเอล นับตั้งแต่ปี 1980 สหรัฐยอมให้คณะมนตรีความมั่นคงประณามอิสราเอลสำหรับการก่อสร้างรุกล้ำพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์เพียงครั้งเดียวในปลายปี 2016 เมื่อรัฐบาลของโอบามาที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งได้งดออกเสียงในเรื่องนี้ 

ปัจจุบัน อิสราเอลยังคงเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ทั้งสองประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับเป้าหมายด้านนิวเคลียร์และการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธของอิหร่าน โดยเฉพาะกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และกลุ่มฮามาสของเลบานอน ส่งผลให้สหรัฐได้ให้คำมั่นว่าจะช่วยปกป้องความเหนือกว่าทางการทหารของอิสราเอล ด้วยการรับประกันว่าการขายอาวุธใดๆ ให้กับชาติอื่นๆ ในตะวันออกกลางจะไม่ส่งผลเสียต่อความได้เปรียบทางทหารหรือเป็นภัยคุกคามทางทหารต่ออิสราเอล

ในทางกลับกัน ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ปักกิ่งเริ่มพยายามที่จะขยายอิทธิพลทางการเมืองในตะวันออกกลาง โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สำหรับการเป็นผู้นำของจีนใน “ซีกโลกใต้” ของประเทศเกิดใหม่และประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยปักกิ่งได้ทำข้อตกลงกับประเทศในภูมิภาคเกือบทั้งหมด โดยสี่ประเทศในตะวันออกกลาง ได้แก่ อียิปต์ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เข้าสู่กลุ่มประเทศเกิดใหม่กลุ่มบริคส์ในปีนี้ นอกจากนี้จีนยังเป็นตัวกลางในการประสานข้อตกลงระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านในเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวทางการทูตครั้งสำคัญของจีน ขณะที่เมื่อเดือนมิถุนายน สี จิ้นผิง ได้ยื่นข้อเสนอที่จะช่วยประธานาธิบดีปาเลสไตน์ มาห์มุด อับบาส ส่งเสริมการเจรจาสันติภาพกับอิสราเอลด้วย

เมื่อมองย้อนไปตั้งแต่ยุค เหมา เจ๋อตุง เป็นต้นมา แนวทางของจีนคือโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ และในช่วงหลังก็หันมาเปิดความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกับอิสราเอลมากขึ้น แต่เมื่อกลุ่มฮามาสเปิดฉากการโจมตี ปักกิ่งก็ใช้น้ำเสียงที่เป็นกลาง โดยเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่าย “อยู่ในความสงบ” และไม่ประณามการกระทำของฝ่ายปาเลสไตน์  ซึ่งทำให้ชาวอิสราเอลและประเทศตะวันตกจำนวนมากไม่พอใจ แต่หลายฝ่ายมองว่าการสนับสนุนของจีนต่อชาวปาเลสไตน์สามารถเสริมจุดยืนของตนในโลกอาหรับ และเชื่อว่า จีนจะเดินตามเส้นทางเดียวกันในสงครามยูเครน โดยปฏิเสธที่จะประณามการรุกรานของรัสเซีย และเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็น “วิกฤต” แทน เนื่องจากไม่ต้องการถูกดูดเข้าไปในความซับซ้อนของเหตุการณ์โดยตรง

ท่าทีล่าสุดดังกล่าวของจีน ต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ มีแนวโน้มจะได้ใจจากชาติอาหรับอื่นๆไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวทีการประชุม Belt and Road Forum หากจีนสามารถรักษาท่าทีและบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อไม่ให้ความขัดแย้งครั้งนี้ลุกลามและบานปลายออกไปได้สำเร็จ อิทธิพลของจีนในภูมิภาคตะวันออกกลางก็จะเพิ่มมากขึ้นในระยะยาวอย่างแน่นอน