posttoday

เมื่อสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอาจส่งผลต่อการเรียนรู้และความจำ

03 ตุลาคม 2566

ช่วงที่ผ่านมาสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่าง แอสปาร์แตม ได้รับการพูดถึงเป็นวงกว้าง จากการประกาศว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็งขององค์กรอนามัยโลก ล่าสุดเราอาจต้องหันกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่าถ้าสารนี้อาจส่งผลต่อ การเรียนรู้และความจำ เราจะยังบริโภคต่อหรือไม่

แอสปาร์แตม หรือ น้ำตาลเทียม ถือเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลยอดนิยมที่มีการใช้งานกันแพร่หลาย อีกหนึ่งตัวเลือกทดแทนน้ำตาลที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไป มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ชื่นชอบรสหวานแต่ไม่ต้องการรับน้ำตาลมากเกินไป

 

          ปัจจุบันสารชนิดนี้เป็นส่วนผสมของอาหารหลายชนิด ตั้งแต่น้ำอัดลม, เบเกอรี่, ซีเรียล, กาแฟ, ไอศกรีม, ยาสีฟันสำหรับเด็ก ฯลฯ พบได้ในผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันกว่า 6,000 รายการ เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ปราศจากน้ำตาลที่วางขายตามท้องตลาด และได้รับความนิยมแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการรักษาสุขภาพ

 

          แต่ล่าสุดเริ่มมีการค้นพบว่า แอสปาร์แตมที่มีการใช้งานกันทั่วไปนี้อาจมีผลต่อการเรียนรู้และความจำ

 

เมื่อสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอาจส่งผลต่อการเรียนรู้และความจำ

 

เมื่อสารให้ความหวานมีผลกระทบต่อการเรียนรู้และความจำ

 

          ข้อสรุปนี้มาจากทีมวิจัยแห่ง Florida State University กับการศึกษาผลกระทบจากการบริโภคสารแอสปาร์แตมเป็นเวลานาน เพื่อตรวจสอบผลกระทบที่เกิดต่อร่างกายในระยะยาว นำไปสู่การค้นพบว่า สารให้ความหวานนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเรียนรู้และความจำ อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบสู่รุ่นลูกอีกด้วย

 

          ข้อถกเถียงในด้านความปลอดภัยของสารให้ความหวานแอสปาร์แตมเป็นเรื่องได้รับความสนใจมายาวนาน นับจากเริ่มถูกนำมาใช้งานเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มตั้งแต่ปี 1983 จากนั้นจึงเริ่มได้รับการผลักดันให้ใช้ทดแทนน้ำตาลและเป็นทางเลือกใหม่ในการบริโภคของคนรักสุขภาพ

 

          นำไปสู่การทดสอบการเรียนรู้ของหนูสามกลุ่มที่ดื่มน้ำผสมแอสปาร์แตม 7%, 15% และน้ำเปล่า ในปริมาณ 237 มิลลิลิตร/วัน ต่อเนื่องเป็นเวลาราว 4 เดือน จากนั้นนำไปทำการทดสอบให้หาทางหลบหนีออกจากกล่องที่กำหนด โดยมีการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยให้หนูทำการเรียนรู้เพื่อค้นหาทางออกด้วยตัวเอง

 

          ผลปรากฏว่าหนูกลุ่มที่บริโภคสารแอสปาร์แตมทั้งสองกลุ่ม ใช้เวลาในการค้นหาทางออกได้ช้ากว่าหนูกลุ่มที่ดื่มน้ำเปล่ามาก แม้จะยังสามารถค้นหาทางออกได้ด้วยตัวเอง แต่เห็นได้ชัดว่าต้องใช้เวลานานหรือต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งอาจเป็นผลกระทบต่อสมองของสารให้ความหวานชนิดนี้

 

          ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือผลกระทบนี้ไม่ได้จำกัดเพียงผู้บริโภค เมื่อนำหนูที่ได้รับแอสปาร์แตมมาผสมพันธุ์กับหนูที่เป็นปกติ พวกเขาพบว่าหนูรุ่นลูกทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างมีอาการบกพร่องทางการเรียนรู้และความจำตกทอดมาด้วย ต้องรอจนรุ่นหลานที่ผลกระทบนี้จะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

 

          นี่จึงถือเป็นผลกระทบร้ายแรงที่ไม่ได้ส่งผลแค่กับเราแต่ยังสืบเนื่องไปจนถึงรุ่นต่อไปอีกด้วย

 

เมื่อสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอาจส่งผลต่อการเรียนรู้และความจำ

 

ความอันตรายของแอสปาร์แตม ยังสามารถบริโภคได้หรือไม่?

 

          อย่างที่กล่าวไปข้างต้นการศึกษาผลกระทบจากการบริโภคแอสปาร์แตมในระยะยาวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2023 ทางองค์กรอนามัยโลก(WHO) ก็ได้ออกประกาศขึ้นมาเช่นกันว่า สารให้ความหวานชนิดนี้อาจมีความเป็นไปได้ในการก่อมะเร็งต่อมนุษย์

 

            จริงอยู่เมื่อจัดหมวดหมู่ของสารก่อมะเร็ง แอสปาร์แตมอาจอยู่ในระดับ 2B หรือเพียงมีความเป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็งเท่านั้น ไม่ได้ยืนยันว่าจะเกิดขึ้นจริง และไม่ได้มีความเสี่ยงเท่าเนื้อสัตว์แปรรูปที่จัดอยู่ในอันดับต้นๆ การที่สารให้ความหวานชนิดนี้จะสามารถก่อมะเร็งได้ สำหรับคนน้ำหนักราว 70 กิโลกรัมต้องบริโภคน้ำอัดลมไร้น้ำตาลราว 3 ลิตรขึ้นไปจึงเริ่มเห็นผล

 

          ดังนั้นตราบเท่าที่ยังใช้แอสปาร์แตมในปริมาณที่กำหนดก็ไม่น่าอันตรายถึงระดับเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกาย

 

          แน่นอนว่าการศึกษาผลกระทบของแอสปาร์แตมไม่ได้หมดลงเท่านี้ นอกจากผลกระทบต่อการเรียนรู้และความจำ งานวิจัยหลายฉบับยังมีการพูดถึงว่าแอสปาร์แตมส่งผลกระทบต่อความอยากน้ำตาล, ปริมาณการย่อยน้ำตาลในร่างกายลดลง, ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและอาการจิตเวช ไปจนก่อให้เกิดอาการแพ้รูปแบบต่างๆ

 

          กระนั้นข้อมูลที่ได้รับจากงานวิจัยข้างต้นยังไม่ได้ถูกยอมรับหรือเชื่อถือมากนัก ด้วยข้อมูลที่ได้จากการทดลองส่วนมากอยู่ในกลุ่มควบคุมที่ค่อนข้างจำกัด และยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยหรือการพบผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากสารชนิดนี้เป็นวงกว้าง จึงจบลงที่ยังเป็นข้อโต้แย้งจนปัจจุบัน

 

          อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับการบริโภคน้ำตาลโดยตรง ไปจนสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดอื่น จัดว่าแอสปาร์แตมมีความปลอดภัยสูงกว่ามาก ดังนั้นสำหรับท่านที่ต้องการรักษาสุขภาพหรือคนทั่วไปที่เป็นอีกทางเลือกความหวานที่ใช้บริโภคแทนน้ำตาล ในขณะที่ผู้มีโรคประจำตัวอาจต้องได้รับการศึกษาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดดูอีกที

 

 

 

          อย่างไรก็ตามด้วยการไม่มีข้อสรุปแน่ชัดนี้เอง จึงตัดความเป็นไปได้ที่สารนี้อาจมีอันตรายเมื่อได้รับการบริโภคในระยะยาวไม่ได้เสียทีเดียว อีกทั้งแม้จะมีการอนุมัติให้ใช้งานนับแต่ปี 1983 แต่ก็เพิ่งได้รับความนิยมเป็นวงกว้างในเวลาไม่นาน จึงขาดข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพที่แน่ชัดจนไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด

 

          ทางที่ดีที่สุดคงเป็นการบริโภคแต่พอดีเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาว

 

 

 

          ที่มา

 

          https://newatlas.com/medical/aspartame-artificial-sweetener-memory-loss/

 

          https://news.fsu.edu/news/health-medicine/2023/09/18/college-of-medicine-researchers-discover-learning-and-memory-deficits-after-ingestion-of-aspartame/

 

          https://health.kapook.com/view271349.html