posttoday

รอยเตอร์ตีข่าว แพลงก์ตอนบลูมสร้างปัญหา 'Dead Zone' ในทะเลตะวันออกของไทย

21 กันยายน 2566

สื่อมวลชนต่างประเทศ เสนอข่าวปัญหาแพลงก์ตอนที่หนาแน่นผิดปกติ นอกชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทยกำลังทำให้เกิด 'Dead Zone' ในทะเล ซึ่งคุกคามการดำรงชีวิตของชาวประมงท้องถิ่นที่เลี้ยงหอยแมลงภู่ในน่านน้ำแถบนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์ นำเสนอรายงานข่าว ระบุว่านักวิทยาศาสตร์ทางทะเลกล่าวว่าบางพื้นที่ในอ่าวไทยมีปริมาณแพลงก์ตอนมากกว่าปกติถึง 10 เท่า ทำให้น้ำกลายเป็นสีเขียวสดและคร่าชีวิตสัตว์ทะเลไปเป็นจำนวนมาก

“นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นมันแย่มากขนาดนี้” ธนัสพงษ์ โภควนิช นักวิจัยภาควิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว "มันรุนแรงมาก"

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า โดยปกติ ปัญหาแพลงก์ตอนบลูมเกิดขึ้นปีละหนึ่งหรือสองครั้ง และโดยทั่วไปจะใช้เวลาสองถึงสามวัน ซึ่งพวกมันสามารถผลิตสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หรือสามารถทำลายสิ่งมีชีวิตในทะเลโดยการลดออกซิเจนในน้ำและบังแสงแดด

สถิตย์ชาติ ทิมกระจ่าง นายกสมาคมประมงจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ชายฝั่งจังหวัดชลบุรีมีชื่อเสียงในเรื่องฟาร์มหอยแมลงภู่ และมากกว่า 80% ของเกือบ 300 แปลงในพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว

 แปลงเลี้ยงหอยของชาวประมง สุชาติ บุวัฒน์ เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ เขากล่าวว่าแพลงก์ตอน บลูมทำให้เขาขาดทุนมากกว่า 500,000 บาท (14,000 ดอลลาร์) โดยที่เพื่อนๆ ของเขายังได้รับความสูญเสียที่ "ยังไม่สามารถประเมินได้" อีกจำนวนมาก

แม้ว่าสาเหตุของแพลงก์ตอนบลูมที่รุนแรงยังไม่ชัดเจน แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามลภาวะและความร้อนจัดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเหตุ

“ปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดความแห้งแล้งและอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น” ธนัสพงษ์ กล่าว “ทุกอย่างจะแย่ลงหากเราไม่ปรับวิธีจัดการทรัพยากร น้ำเสีย และวิถีชีวิตของเรา”

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แพลงก์ตอนบลูมทำให้ปลาตายหลายพันตัวเกยตื้นไปตามชายหาดในจังหวัดชุมพรทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวโทษการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระตุ้นปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้

คลื่นความร้อนในทะเลทั่วโลกกลายเป็นความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นในปีนี้ โดยมีปลาตายหลายพันตัวเกยตื้นบนชายหาดในรัฐเท็กซัส และผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าสาหร่ายจะบานตามชายฝั่งอังกฤษอันเป็นผลมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเช่นกัน