posttoday

ยุโรปส่อแววเครียด คาดต้องพึ่งแบตเตอรี่และแหล่งพลังงานจากจีน

18 กันยายน 2566

หากสหภาพยุโรปยังไม่มีมาตรการที่เข้มงวด ภายในปี 2030 ยุโรปอาจต้องพึ่งแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและเซลล์เชื้อเพลิงจากจีน เช่นเดียวกับที่รัสเซียต้องพึ่งพลังงานจากจีนก่อนเกิดสงครามกับยูเครน

เนื้อหาดังกล่าว ปรากฏอยู่ใน เอกสารการอภิปรายเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจของยุโรป ที่จะเกิดขึ้นในการประชุมของผู้นำสหภาพยุโรป ณ เมืองกรานาดา ประเทศสเปน วันที่ 5 ต.ค.

ด้วยความกังวลต่ออิทธิพลของจีนที่เริ่มเติบโตในระดับเวทีโลก บรรดาผู้นำของสหภาพยุโรปจะหารือกันว่ายุโรปจะมีแนวทางอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ต้องพึ่งพาจีน

เอกสารดังกล่าวยังระบุว่า แหล่งพลังงานหมุนเวียนของยุโรปเช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม ที่ยังขาดความเสถียร สหภาพยุโรปจึงจำเป็นต้องมีวิธีในการกักเก็บพลังงานเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมาย net-zero ภายในปี 2050

นอกจากนี้ ความต้องการแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและเซลล์เชื้อเพลิงที่มีความจำเป็นต่อการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของสหภาพยุโรปคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10 ถึง 30 เท่าในปีถัดไป ซึ่งหากยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวด ภายในปี 2030 สหภาพยุโรปอาจต้องพึ่งพาจีน เหมือนที่รัสเซียเคยทำก่อนเกิดสงครามกับยูเครน

ตามที่คณะกรรมาธิการยุโรประบุ ในปี 2021 ก่อนรัสเซียจะรุกรานยูเครน สหภาพยุโรปได้นำเข้าก๊าซจากรัสเซียมากกว่า 40% ของการบริโภคทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าน้ำมันมากกว่า 27% และนำเข้าถ่านหินมากกว่า 46%

เมื่อการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียหยุดชะงักจากภาวะสงคราม ราคาพลังงานในสหภาพยุโรปจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในภาคเทคโนโลยีดิจิทัลยังถือว่ามีความน่ากังวล เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์ดิจิทัล เช่น เซ็นเซอร์ โดรน เซิร์ฟเวอร์ข้อมูล อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในทศวรรษนี้ และหากภายในปี 2030 หากสหภาพยุโรปยังต้องพึ่งประเทศอื่น อาจส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม บริการและการปรับปรุงภาคการเกษตรให้มีความทันสมัยขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ